วันพฤหัสบดีที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

Detroit Metal City: ฝัน บ้า &...เอ่อ เดธ เมทัล (มั้ง!?!)



-1-
จะทำยังไงดี เมื่อความฝันและความหวังสวนทางกับความเป็นจริง

คงมีหลายคนที่วาดฝันถึงอนาคตข้างหน้าว่าอยากเป็นอย่างโน้นอย่างนี้ แต่เมื่อเวลาผ่าน สิ่งที่เคยคิดเคยฝันไว้มันชักห่างไกลออกไปทุกที

สำหรับ Soichi Negishi หนุ่มบ้านนอกเจ้าของผมทรงหัวเห็ดก็คงจัดอยู่ในข่ายนั้น

เดาเอาว่าส่วนใหญ่ของคนที่เล่นดนตรี หรืออย่างน้อยซักวูบหนึ่งต้องเคยคิดจะยึดสิ่งนี้เป็นอาชีพ Negishi ก็เช่นกัน นั่นคือการมีผลงานของตัวเอง และเป็นที่ชื่นชมของผู้คน

ห้าปีผ่าน หลังหอบกีตาร์คู่ใจจากบ้านนอกมาเผชิญโลกกว้าง Negishi ก็ "เหมือนจะ" บรรลุเป้าหมาย นั่นคือได้ยึดอาชีพนักดนตรีตามที่ฝันไว้ มีงานเป็นของตัวเอง แถมยังมีแฟนระดับสาวกรายล้อมอยู่รอบตัว

ปัญหาคือความสำเร็จที่ได้มา กลับไม่ใช่ในรูปแบบที่เจ้าตัวต้องการ นั่นคืองานเพลงในแบบสวีดิชป็อป แต่แทบจะยืนอยู่อีกฟากเลยก็ไม่ผิด ในบทบาทของ Johannes Krauser II นักร้องนำและมือกีตาร์ของวงเดธ เมทัลนาม Detroit Metal City!?!

-2-
พล็อตที่ว่า เปิดช่องให้เล่นกับบุคลิกสองแบบที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ระหว่างตัวจริงของ Negishi ที่สุภาพ เรียบร้อย ฝันจะประสบความสำเร็จด้วยเพลงรักที่แค่ชื่อเพลงก็ชวนเลี่ยน Amai Koibito (Sweet Baby) หรือ Raspberry Kiss กับบทบาทแสร้งทำ (หรือด้านมืดที่ซ่อนอยู่?) ในการเป็น Krauser ที่ต้องดิบ โหด เถื่อน และชั่วร้ายสุดขีด ร้องแต่เพลงที่เกี่ยวกับการข่มขืน ฆาตกรรม และความตาย

และไอ้พล็อตที่ว่านี้แหละ ทำให้การ์ตูนตลกฝีมือ Kiminori Wakasugi เรื่องนี้ มียอดขายรวมแล้วกว่าสองล้านเล่มในญี่ปุ่น



ลองอ่านข้อมูลคร่าวๆของ Wakasugi ดูแล้วก็ตลกดีเหมือนกัน ตรงที่เจ้าตัวยอมรับว่าไม่ได้สนใจหรือฟังเพลงเฮฟวี่ หรือ เดธ เมทัล อะไร แต่กลับเลือกเขียนมังงะที่พาดพิงถึงดนตรีแนวนี้

แต่ชื่อเรื่องที่เป็นชื่อเดียวกับวงของ Negishi ก็น่าจะมีที่มามาจาก Detroit Rock City เพลงของ KISS รวมถึงการแต่งหน้าแต่งตาของสมาชิกในวงด้วย



จะว่าไป ก็คงไม่ต่างกับ Yoichi Takahashi คนเขียน Captain Tsubasa ที่ตอนเริ่มเรื่องแทบจะไม่รู้อะไรเกี่ยวกับฟุตบอลนั่นแหละ แต่อาศัยว่าเล่าเรื่องได้เก่ง เล่าได้สนุก จนกลายเป็นการ์ตูนที่ประสบความสำเร็จจนได้ กระทั่งถูกนำไปต่อยอดด้วยการสร้างเป็นภาพยนตร์ในเวลาต่อมา

-3-



พูดถึงการสร้างภาพยนตร์จากมังงะเรื่องยาว แถมยังไม่จบ ก็ขึ้นอยู่กับคนเขียนบทเหมือนกันว่าจะเล่าเรื่องแล้วหาบทสรุปได้ดีแค่ไหน



พูดถึงตรงนี้ ก็ต้องบอกว่า Mika Omori คนเขียนบท กับ Toshio Lee ผู้กำกับทำออกมาได้ถึงกึ๋นจริงๆ ทั้งลูกล่อลูกชนตั้งแต่ต้นจนจบ คือเป็นหนังตลกที่เป็นหนังและทำออกมาให้ดูตลก ไม่ใช่หนังตลกของไทย ซึ่งเป็นอะไรซักอย่างความยาวชั่วโมงเศษ แล้วเปิดโอกาสให้นักแสดงตลกอิมโพรไวส์กันไปเรื่อย

เสริมด้วยการแสดงของนักแสดงทุกคน โดยเฉพาะตัวเอก Kenichi Matsuyama (Shin จาก Nana และ L จากไตรภาค Death Note) ที่แรดได้ใจมากในเวลาที่เป็น Negishi และบ้าสุดขีดเช่นกันในตอนที่ต้องแปลงโฉมเป็น Krauser แถมยังเป็นเจ้าของเสียงร้องในทั้งสองบทบาทอีกด้วย คือถ้าเป็นตามข้อมูลนี้จริงๆ ก็ต้องบอกว่าหมอนี่สุดๆเหมือนกัน

-4-



พูดถึงเรื่องดนตรี เพลงของ DMC ในภาพยนตร์ คงไม่ถึงกับเป็นเดธแบบเต็มร้อย จะว่าไปมันออกไปทางอัลเทอร์เนทีฟ เมทัลที่มีส่วนผสมของเดธอยู่ด้วยมากกว่า

คือลองฟังเพลงเอกของเรื่องอย่าง Satsugai ก็ออกจะคล้ายๆกับ Slipknot อยู่พอสมควร ซึ่งก็น่าจะใกล้เคียงกับเดธมากที่สุดแล้ว

แต่บางเพลงอย่าง Maou หรือเพลงของ Jack Ill Dark (รับบทโดย Gene Simmons มือเบสของ KISS ซะด้วย) ที่ในเรื่องเป็นตำนานแบล็ค เมทัล มันค่อนไปทางฮาร์ดร็อคซะมากกว่า



ก็ถือว่าดูและฟังกันแบบขำๆ อย่าไปซีเรียสมากว่าใช่หรือไม่ใช่เดธ เมทัลตามท้องเรื่อง หรือทำไม DMC มันเป็นแค่วงสามชิ้น แต่เวลา Krauser ปล่อยมือจากกีตาร์ไปจับไมค์ ยังมีเสียงเล่นกีตาร์อยู่ เดี๋ยวจะงงกันเปล่าๆ เพราะจุดประสงค์หลักของเรื่องคือความตลก ซึ่งทีมงานก็ตอบโจทย์ได้สมบูรณ์แล้ว

ขณะเดียวกัน ก็อาจจะแฝงแง่คิดไว้เล็กๆน้อยๆด้วยว่าบางทีต่อให้สิ่งที่เรากำลังทำอยู่มันอาจจะไม่ตรงกับความต้องการแท้จริงของเราเอง

แต่หากมันสร้างความสุขและมอบความฝันให้คนอื่นได้ เหมือนที่ Negishi มอบให้กับแฟนเพลงในคราบของ Krauser

แบบนั้นก็อาจเรียกได้ว่าความสำเร็จเหมือนกัน...

-5-

ปิดท้ายด้วยคลิปจากชอตฮาที่สุดของเรื่อง (ตามความเห็นส่วนตัว) คือถ้ายังไม่ได้ดูหนังแบบเต็มๆก็เก็บเอาไว้ก่อนก็ได้

ดูแล้วก็บอกได้คำเดียวว่า Matsuyama มันกระแดะได้ใจจริงๆ

วันพุธที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

In The Rough: ดิบๆ ไม่ต้องเจียระไน



Diemonds

In The Rough

นานแล้วที่ไม่ได้เขียนถึงอัลบั้มซักชุดเป็นชิ้นเป็นอัน (หนสุดท้ายรู้สึกจะเป็น Nostradamus ของ Judas Priest ใน M.E. โน่น)

อารมณ์ช่วงที่ผ่านมา มันรู้สึกเบื่อๆอยากๆยังไงชอบกล เหมือนว่าวงใหม่ๆที่ออกมาทุกวันนี้ น้อยมากที่จะทำเพลงออกมาได้โดนใจจริงๆ

จนมาอยู่อังกฤษนี่แหละถึงรู้สึกว่าของดียังมีเหลือให้ควานหากันอีกเยอะ ขึ้นอยู่กับว่าจะหาเจอหรือไม่ก็เท่านั้น

สำหรับวงนี้คงไม่ถึงกับเป็นเรื่องบังเอิญ เพราะรู้จัก Diemonds เป็นครั้งแรก ก็จากเพลง Free N' Easy ที่รวมอยู่ในซีดี Sons of Guns IV ของแม็กกาซีน Classic Rock

หนึ่งคือสะดุดกับนักร้องนำสาวที่่มีคาแรคเตอร์เซ็กซี่แบบดิบๆดี

สองคือตัวเพลงที่มันให้อารมณ์ย้อนกลับไปหาวันวานเก่าๆสมัยเพิ่งหัดฟังเพลงฮาร์ดร็อค/เมทั่ลยุค 80s ใหม่ๆ (อย่างที่ทุกวันนี้กลายเป็นสลีซ ร็อค - Sleaze Rock ไปแล้ว) รวมถึงเนื้อหาแบบดิบๆ ไม่ต้องตีความอะไรให้มาก

"Can't you see I'm a real motherf@#$%r
wanna dance, come step to me
Look at me I'm a real lucky lady
nothing comes in this world for free
Cuz I'm free n' easy nothing's gonna stand in my way"

ฟังวนไปวนมาเฉพาะเพลงนี้อยู่หลายรอบ จนอีก 15 วงที่อยู่ในแผ่นเดียวกันทำท่าจะน้อยใจ จากนั้นก็ลุกลามไปถึง myspace ของวง myspace.com/diemonds

และสุดท้ายลงเอยด้วยการเสียเงินซื้อ EP ชุดนี้มาฟังจากเว็บนี้ www.kt8merch.com/store/pages/9074/Diemonds.htm



ที่รู้สึกทึ่งก็คือเจ็ดเพลงที่อยู่ใน EP ไม่มีเพลงไหนที่เข้าขั้นเศษเพลงเลย ทั้งที่เป็นวงหน้าใหม่

ทุกเพลงกระชับลงตัว และให้อารมณ์ดิบแบบเดียวกับที่ได้ฟังจาก Guns N' Roses ยุคแรก ทัั้ง Start Over ที่ดูจะติดกลิ่น Welcome To The Jungle มาหน่อย หรือเพลงที่เข้าขั้นเด่นเพลงอื่นอย่าง Free N' Easy หรือแทร็คปิด Shot For The Road

เรื่องฝีมือของนักดนตรีก็ไม่ได้โชว์เทคนิคเหนือชั้นสวิงสวายอะไร เช่นเดียวกับเสียงร้องของ Priya Panda ก็ไม่ถึงกับสุดยอด สำคัญกว่าคือทุกอย่างมันเข้ากับแนวทางที่วงเลือกเล่นชนิดเหมาะเจาะ

ไม่รู้จะสรรเสริญกันเกินไปรึเปล่า แต่ถ้าใครคิดถึงอารมณ์ในแบบดั้งเดิมของ GN'R แล้ว ไม่น่าปล่อยให้งานชุดนี้หลุดมือไป

วันศุกร์ที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

All The People...So Many People...



BLUR
@ Hyde Park, London
July 2, 2009

ช่วงนี้แย่แฮะ เหมือนไม่ค่อยมีแรงกระตุ้นให้อัพเดตบล็อกเท่าไหร่ เพราะมีเรื่องโน้นเรื่องนี้เข้ามาวนเวียนอยู่ในหัวจนสับสนไปหมด

อย่างคอนเสิร์ต Blur ที่ Hyde Park นี่ถ้าเป็นอาหารก็ต้องบอกว่าเก็บไว้จนหมดรสชาติไปแล้ว ไม่ได้หมายถึงตัวคอนเสิร์ตนะ แต่เป็นคนเขียนเองนี่แหละที่เก็บไว้จนอารมณ์สนุกตอนนั้นมันจางไป แทนที่จะเขียนสดๆตั้งแต่ตอนนั้น น่าจะได้อรรถรสมากกว่า

สำหรับ Blur เอง ก็คงคล้ายๆกับ AC/DC ที่เขียนไปเมื่อตอนก่อนคือเป็นโชว์ที่คนส่วนใหญ่ตั้งตารอคอยกันเป็นพิเศษ เพราะเป็นการรียูเนียนของคลาสสิคไลน์อัพหนแรกในรอบหลายปี

คือจริงๆจะบอกว่านี่เป็นโชว์แรกก็ไม่เชิง เพราะตั้งแต่ทั้งสี่หน่อตัดสินใจกลับมารวมตัวกันในช่วงซัมเมอร์ก็ขึ้นเวทีเล่นไปแล้วหลายรายการ รวมถึง Glastonbury ก่อนหน้านี้ด้วย

แต่ที่ Hyde Park นี่ถือเป็นโชว์เฉพาะของวงล้วนๆ ไม่ต้องไปแย่งหรือแบ่งความเด่นกับใคร

ตามกำหนดเดิม โชว์ที่ Hyde Park นั้นวางไว้แค่วันเดียวคือศุกร์ที่ 3 มิ.ย. แต่คงจะด้วยดีมานด์ที่ล้นหลามจนโซลด์เอาต์ ทำให้ทางวงกับ Live Nation ผู้จัดต้องเพิ่มจำนวนโชว์ขึ้นอีกวัน เลยกลายเป็นว่าคนที่มาจองทีหลังได้ดูก่อนซะงั้น (โชว์ที่เพิ่มขึ้นมาเป็นวันพฤหัสฯ)


แต่ถึงจะมาจองทีหลัง แต่ก็เรียกว่าจองกันข้ามปีอีกเหมือนกัน รู้สึกจะเป็นช่วงไล่ๆกับ AC/DC นี่แหละ

พูดถึง Hyde Park กันซักหน่อย ที่นี่ก็คือหนึ่งในสวนสาธารณะใหญ่จำนวนเก้าแห่งของลอนดอน (Royal Parks of London) ส่วนตัว ถ้าพูดถึงความร่มรื่นหรือสวยงามคงไม่เท่าไหร่

แต่สิ่งที่ทำให้ Hyde Park ขึ้นชื่อก็คือ Speaker's Corner หรือมุมอิสระสำหรับการพูดในที่สาธารณะ จนบ้านเราเอาชื่อสถานที่ไปใช้เรียกเวลามีการพูดในที่ชุมนุมแทน

นอกจาก Speaker's Corner อีกจุดขายของ Hyde Park ก็คงไม่พ้นความเป็นลานกว้างสำหรับให้คนมารวมตัวกันมากๆ และแบบนี้จะมีอะไรเหมาะไปกว่าเทศกาลคอนเสิร์ตกลางแจ้ง

เฉพาะซัมเมอร์นี้ Live Nation คงเช่าเอาไว้แบบยาว เพราะตลอดสัปดาห์นั้น กดกันมาต่อเนื่อง ทั้ง Hard Rock Calling, Blur สองวัน ส่วนเสาร์อาทิตย์ยังมี Kanye West กับ Basement Jaxx ให้ดูกันต่อด้วย (ถ้ามีเงินซื้อบัตรนะ)



พูดถึงการจัดสถานที่ตั้งเต็นท์ขายของอะไรก็เป็นตามสไตล์ของ Live Nation จริงๆ ด้วยความที่เพิ่งดู Download Festival มา ทุกอย่างก็เหมือนของเดิมแบบเด๊ะๆ เลยไม่ค่อยรู้สึกรู้สมอะไรเท่าไหร่ ยิ่งวงเปิดสองวงที่ขึ้นเวทีมาอุ่นเครื่องคนดู ก็สารภาพตามตรงเลยว่าไม่รู้จัก แฮ่ๆ (เล่นง่ายจังนะ)



กว่า Blur จะขึ้นเวทีก็ล่อเข้าไปสองทุ่มกว่าเกือบสามทุ่มโน่นแล้ว ด้วยความที่อยากจะถ่ายรูปเก็บไว้ซักหน่อย ก็เลยอุตส่าห์สอดแทรกเข้าไปด้านหน้าเวที แต่ก็ได้มาแค่นี้เอง แล้วสุดท้ายก็ทนแรงเบียดเสียดไม่ไหว หลบไปนั่งดูต่อจากระยะไกลแทน



พูดถึงโชว์ของ Blur แล้ว ก็ต้องบอกว่าสมราคาของวงระดับแถวหน้าของอังกฤษ ทั้งระบบเสียงและแสงบนเวที โดยเฉพาะตอนท้ายๆที่ฟ้ามืดแล้วทำออกมาได้อลังการมาก

แต่พอมาอยู่นี่นานๆแล้ว กลับรู้สึกชอบดูในสถานที่เล็กๆเหมือนอย่างตอนไปเบียดกับสาวๆในงาน Tha Manics มากกว่า คือคอนเสิร์ตใหญ่มันก็สนุกดี แต่รู้สึกเหมือนมีช่องว่างระหว่างนักดนตรีกับคนดูมากเกินไป หรือคิดไปเองคนเดียวก็ไม่รู้แฮะ

เขียนแบบเบลอๆแล้วก็จบแบบเบลอๆนี่แหละ

เฮ่อ...ก็บอกแล้วว่าช่วงนี้มันเบื่อๆอยากๆ

Setlist
1. She's So High 2. Girls And Boys 3. Tracy Jacks 4. There's No Other Way 5. Jubilee 6. Badhead 7. Beetlebum 8. Out Of Time 9. Trimm Trabb 10. Coffee And TV 11. Tender 12. Country House 13. Oily Water 14. Chemical World 15. Sunday Sunday 16. Parklife (with Phil Daniels) 17. End Of A Century 18. To The End 19. This Is A Low
Encore:
20. Popscene 21. Advert 22. Song 2
Encore 2:
23. Death Of A Party 24. For Tomorrow 25. The Universal

วันพฤหัสบดีที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

For Those About To Rock (We Salute You)


AC/DC
@ Wemley Stadium, London
June 26, 2009

ดูมาตั้งเดือนแล้วเพิ่งจะมาอัพ เพราะช่วงปลายเดือนมิถุนายน บอกตรงๆว่าเฉื่อยๆเนือยๆยังไงชอบกล

คือการดูคอนเสิร์ตมันเป็นความอยากส่วนตัวที่อัดอั้นมานานก็จริง แต่ไอ้การตระเวนดูถี่ๆ ก็ใช่ว่าจะเป็นเรื่องดีเสมอไป

นอกจากจะกระทบกับเงินในกระเป๋าอย่างรุนแรงแล้ว ยังพาลให้สภาพร่างกายมันล้าตามไปด้วย โดยเฉพาะผลข้างเคียงจากที่โดนิงตันนี่ยอมรับเลยว่ามีส่วนมากกับทั้งกายและใจ

ลูกคุณหนูก็เงี้ย ไม่ค่อยได้เผชิญความลำบาก

กระทั่งคอนเสิร์ตที่ตั้งใจไว้มากอย่าง AC/DC ก็พลอยได้รับผลกระทบไปด้วย ถึงจะทิ้งช่วงมาจาก Download ตั้งสองสัปดาห์ก็เหอะ

สำหรับโชว์ที่ เวมบลีย์ สเตเดี้ยม คราวนี้ ถือเป็นหนสองในการมาทัวร์ลอนดอนของ AC/DC แล้ว หลังจากเคยแวะมาหนนึงตอนเดือนเมษา

จะต่างกันก็ตรงครั้งนั้นเป็นการเล่นแบบอินดอร์ที่ O2 Arena คือใจจริง ก็อยากดูตั้งแต่ครั้งนั้นแล้ว แต่ด้วยความที่ AC/DC ไม่ได้มาเล่นที่ยูเคนานเกือบสิบปี แถมลือกันว่านี่อาจเป็นทัวร์สุดท้ายของ AC/DC ด้วย ในเมื่อ Brian Johnson เองก็เลข 6 นำหน้าเข้าไปแล้ว

บัตรที่ O2 ก็เลยเกลี้ยงเหมือนถูกหลุมดำดูดหายไปตั้งแต่สิบนาทีแรกของวันเปิดจอง

ตอนนั้นก็กระเหี้ยนกระหือรือมากที่จะหาตั๋ว แต่ปรากฎว่าดีมานด์สูง ราคาก็เลยอัพทะลุเพดานไปแตะแถวๆ 200 ปอนด์โน่น เห็นแล้วก็ได้แต่ถอดใจ

แต่แล้วก็เหมือนพระมาโปรด (เวอร์ไปมั้ย?) เพราะจากนั้นไม่นาน ก็มีข่าวว่า AC/DC จะกลับมาลอนดอนอีกรอบ แต่คราวนี้กระโดดจาก O2 ที่รับคนได้หมื่นเศษไปเป็น เวมบลีย์ สเตเดี้ยม ที่จุได้มากกว่าสองเท่า เพื่อรองรับความต้องการของแฟนๆ

ทีนี้ละเท่ากับถูกหวยสองเด้งเลย หนึ่งคือเคยเข้าเวมบลีย์มาก่อนก็จริง แต่นั่นเป็นการไปดูฟุตบอลในฐานะนักข่าว แต่คราวนี้จะได้ลงไปยืนในสนามอย่างที่ฝันไว้ และสองก็คือได้ดู AC/DC สมใจนั่นแหละ

คราวนี้ไม่พลาดอีก คือตั้งนาฬิกาปลุกไว้มารอจองตั้งแต่นาทีแรกเลย ขนาดนี้ก็ยังเกือบไป เพราะคนอื่นเขาก็ทำแบบเดียวกันจนเว็บเกือบล่ม แต่สุดท้ายก็ตะครุบมาเป็นกรรมสิทธิ์ไว้ได้หนึ่งใบ

เอ่อ ลืมบอกไปว่าจองในที่นี้ คือตั้งแต่ 17 ธันวาคมปีที่แล้ว หรือพูดง่ายๆก็คือบัตรหมดล่วงหน้าเกินครึ่งปีโน่น!?!


นี่แล ตั๋วที่ต้องจองล่วงหน้ากันถึงครึ่งปี

ฟาสต์ฟอร์เวิร์ดมาถึงวันศุกร์ที่ 26 มิถุนายน คือดีเดย์ที่รอคอยมานาน แต่ด้วยความซื่อบื้อบางประการ คือมัวแต่ไปยืนต่อคิวซื้อเสื้อทัวร์ที่ด้านนอกสเตเดี้ยม เลยมีอันต้องพลาดดู The Answer วงเปิดวงแรกที่ขึ้นเวทีตอนบ่ายสี่โมงไป T^T

ที่แย่คือพอเข้าไปในสเตเดี้ยมแล้ว ก็รู้ว่าด้านในเขาก็มีบู๊ตขายเสื้อกับของที่ระลึกเหมือนข้างนอกเด๊ะๆ แถมคิวยังไม่ยาวชนิดต้องรอจนเหงือกแห้งนี่สิ มันน่าเจ็บใจ!?!

การมัวชักช้าอยู่ด้านนอกยังมีผลเสียอีกอย่างคือคนเขาไปจับจองบริเวณด้านหน้าเวทีกันหมดแล้ว จากตำแหน่งที่เข้าไปได้ใกล้ที่สุดก็คือตรงกลางสนามฟุตบอล ลองนึกดูละกันว่ามันไกลจากเวทีที่ตั้งอยู่ติดอัฒจันทร์ฝั่งหลังประตูแค่ไหน


AC/DC ขึ้นเวทีตอนสองทุ่มครึ่ง แต่รูปนี้ถ่ายตอนสี่โมงเศษ!?!

ระหว่างรอ AC/DC ขึ้นเวที ก็มีคิวของ The Subways วงเปิดวงที่สองขึ้นมาคั่นเวลา

สารภาพตามตรงว่าไม่รู้จักเลยแฮะ เช็กข้อมูลเห็นเขาว่าเป็นการาจที่มีแฟนประจำในหมู่คนที่ไปดู Reading Festival แต่แนวมันไม่ได้ไปกับวงเฮดไลน์เลย

คืออย่าง The Answer นี่ยังพอไปได้ แต่สำหรับ The Subways นี่มันคนละเรื่องจริงๆ

เท่าที่สังเกตคนรอบข้างก็มีคนร้องตามได้บ้าง แต่ส่วนใหญ่จะเป็นตะโกนไล่ว่าเมื่อไหร่จะลงไปซักทีมากกว่า ฮ่าๆ


The Subways วงเปิดลำดับสองที่คนดูจำนวนนึงไม่ชอบใจเท่าไหร่

หลัง The Subways (โดนไล่)ลงเวทีไป ก็ยังทิ้งช่วงนานอีกเกือบชั่วโมง กว่าจะมีสัญญาณบ่งบอกว่าคราวนี้ถึงคิวของ AC/DC แล้ว

นั่นคือการ์ตูนแอนิเมชั่น Angus Young ในคราบปีศาจกับสองสาวบนรถไฟที่เรียกเสียงเฮจากคนดูทั้งสนามได้ยกใหญ่ (คือแทรกมุกลามกแบบเชิงสัญลักษณ์นิดนึง แต่คนที่พอผ่านโลกมาบ้าง ดูก็รู้ว่าแต่ละชอตหมายถึงกิจกรรมอะไร)


แอนิเมชั่นติดเรทบนจอภาพขนาดยักษ์ที่ใช้โหมโรงก่อนเริ่มคอนเสิร์ต

ในเมื่อนี่เป็นทัวร์โปรโมทอัลบั้ม Black Ice ฉะนั้น เพลงแรกที่จะประเดิมคอนเสิร์ตคงเป็นเพลงอื่นไม่ได้ นอกจาก Rock N' Roll Train ก่อนที่จอภาพบนเวทีที่ตอนแรกใช้ฉายแอนิเมชั่นจะแยกออกเป็นสองส่วน เปิดช่องให้พร็อพขนาดยักษ์เป็นรถจักรไอน้ำโผล่ขึ้นมาตรงกลางเวทีแทน


Rock N' Roll Train ขนาดยักษ์บนเวที

ไม่รู้คิดไปเองรึเปล่าว่าระบบเสียงใน Wembley Stadium นี่ไม่ค่อยจะดีเท่าไหร่ (เห็นว่า Oasis ที่มาเล่นหลังจากวันนั้น ก็เจอปัญหาหนักถึงขั้นไฟดับเลย) แต่ตรงนั้นก็พอมองข้ามไปได้ เพราะการแสดงของ AC/DC ที่มีลูกล่อลูกชนเพียบ

อย่างตอนที่อินโทรของ Hells Bells ดังขึ้น ก็จะมีระฆังขนาดยักษ์ค่อยๆหย่อนลงมาจากด้านบนให้ Johnson ขึ้นไปโหนเล่น

หรือในช่วงระหว่างเพลง The Jack ก็จะคั่นด้วยโชว์เปลื้องผ้าของ Angus จนเหลือแค่กางเกงขาสั้นตัวเดียว คือจริงๆไม่น่าดูเท่าไหร่หรอก สำหรับคนอายุห้าสิบกว่า แถมเป็นผู้ชายอีกต่างหาก แต่ท่าทางของแกมันชวนให้ฮามาก

และที่ขาดไม่ได้คือการหันหลังให้คนดูและถลกชิ้นสุดท้ายให้เห็นบั้นท้ายแวบๆ สลับกับภาพบนจอขนาดยักษ์ที่กล้องแพนไปหาสาวๆคนไหน ก็จะมีการถลกเสื้อโชว์เป็นของแถมให้หนุ่มๆดูเป็นบุญตา (อันนี้ชอบมาก แผล่บๆ)


ระฆังใหญ่ที่ห้อยอยู่ทางมุมขวาบนของภาพนั่นแหละ Hells Bells

อีกอันนึงที่เด็ดและฮาไม่แพ้กันคือ Whole Lotta Rosie ในช่วงท้าย ก็มีตุ๊กตาเป่าลมขนาดยักษ์เป็นอีสาวร่างสะบึมส์ขึ้นมาขี่รถไฟ แถมยังส่ายไปส่ายมาตลอดเวลา (ตามแรงลมที่เป่า) คือก็ขำๆปนทะลึ่งตามเนื้อหาของเพลงนั่นแล


Rosie ขนาดยักษ์คร่อมรถไฟระหว่างเพลง Whole Lotta Rosie

จนมาถึง Let There Be Rock ที่เป็นเพลงสุดท้าย Angus ก็ค่อยๆเดินจากเวทีผ่านทางเดินที่เตรียมไว้มายืนโซโล่กีตาร์กันจะๆต่อหน้า แถมยังเล่นยาวเหยียดรวมๆแล้วเกือบยี่สิบนาทีได้ ก่อนจะตัดเข้าช่วงท้ายของเพลงแล้วทั้งหมดก็กลับเข้าหลังเวทีไป


Angus กับช่วงโซโล่ตอนกลางและท้าย Let There Be Rock ที่ยาวเกือบยี่สิบนาที

ถึงช่วงอังกอร์ก็เหลืออีกแค่สองเพลงเอกที่ยังไม่ได้เล่น คือ Highway To Hell และปิดท้ายอย่างเป็นทางการด้วย For Those About To Rock (We Salute You) ที่เปลี่ยนพร็อพจากรถไฟยักษ์กลายเป็นปืนใหญ่หกกระบอกสำหรับยิงสลุตในท่อนคอรัสกับตอนจบเพลงแทน

ส่วนไอ้กระบอกใหญ่ในรูปข้างล่างนั่นไม่ใช่ของจริงนะ เป็นภาพที่ฉายอยู่บนจอ


For Those About To Rock (We Salute You)

ก็จบกันไปด้วยความเหนื่อยอ่อน บวกเปียกเล็กน้อย เพราะฝรั่งพิเรนทร์เล่นขว้างแก้วพลาสติกที่มีเบียร์อยู่กันให้ว่อนไปหมด แถมยังกระเซ็นมาโดนกล้องให้เหนียวเหนอะอีกด้วย ดีนะไม่พัง...

Setlist
1. Rock N' Roll Train
2. Hell Ain't a Bad Place to Be
3. Back in Black
4. Big Jack
5. Dirty Deeds Done Dirt Cheap

6. Shot Down in Flames

7. Thunderstruck
8. Black Ice
9. The Jack

10. Hells Bells
11. Shoot to Thrill
12. War Machine
13. Dog Eat Dog

14. Anything Goes
15. You Shook Me All Night Long
16. T.N.T.

17. Whole Lotta Rosie

18. Let There Be Rock
Encore:
19. Highway to Hell
20. For Those About to Rock (We Salute You)

วันอังคารที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

Download 2009 ฉบับเขาชนไก่ (6)

Download 2009
Donington Park, Leicestershire
June 12-14, 2009


หลังๆรู้สึกชักวนอยู่กับที่เหลือเกิน เทศกาลก็จบไปเป็นเดือนแล้วยังเขียนไม่จบซักที

ก็มาถึงตอนสุดท้ายของ Download 2009 กันแล้ว

อย่างที่เคยว่าไว้ในตอนก่อนคือวันอาทิตย์ ทาง Live Nation ที่เป็นผู้จัด เขาวางคิวไว้ให้เป็นวันของ Classic Rock โดยเฉพาะ Main Stage นั้น ถ้าไม่ใช่วงรุ่นเก่า ก็ต้องเป็นหน้าใหม่ที่เล่นดนตรีย้อนกลับไปยังยุค 70s-80s เท่านั้น ส่วนแนวอื่นๆก็ยังพอมีให้เลือกดูได้ตามเวทีอื่น

หลังจากตากแดดมาสามวันเต็มๆ พอถึงเช้าวันอาทิตย์ก็เริ่มรู้สึกถึงความปวดแสบปวดร้อนจากอาการแดดเผาบ้างแล้ว โดยเฉพาะเวลาอาบน้ำ แต่ด้วยความที่อยู่มาถึงวันที่สี่ ยังไม่มีโอกาสได้ส่องกระจกมองหน้าตัวเองชัดๆเลยไม่รู้ว่าเละขนาดไหน (ก็ขนาดกลับบ้านมาแล้ว หน้ายังเป็นสองสีจากรอยแว่นกันแดดไปอีกเป็นอาทิตย์)

และก็ไอ้ด้วยความไม่รู้นี่แหละ ทำให้ไม่คิดจะหาที่หลบแดดอีก คือในใจคิดว่ามันก็แค่ทำให้ผิวคล้ำขึ้นอีกหน่อยเท่านั้น ทีนี้ก็เลยลุยขึ้นไปนั่งรอเกือบถึงแถวหน้าของ Main Stage กันตั้งแต่หัววันเลย


หน้า Main Stage ตอนประมาณสิบโมงเศษๆก่อนวงแรกจะขึ้นเวที

สำหรับวงแรกที่ประเดิมวันของ Classic Rock ตอนสิบเอ็ดโมงเช้า ก็คือ Stone Gods ที่มี Dan Hawkins กับ Richie Edwards อดีตสองสมาชิก The Darkness เป็นแกนหลัก

คือหลังจาก Justin Hawkins แยกตัวออกไป ทั้ง Hawkins คนน้องกับ Edwards รวมถึง Ed Graham ก็ตัดสินใจฟอร์มวงขึ้นใหม่ โดยได้ Toby MacFarlaine เพื่อนเก่ามาเล่นเบสให้ ส่วน Edwards ก็ขยับไปเล่นริธึ่มกีตาร์/ร้องนำแทน พร้อมเปลี่ยนแนวมาเล่นฮารดร็อคที่ซีเรียสขึ้นทั้งดนตรีและเนื้อหา ชนิดไม่มีตรงไหนคล้ายกับ The Darkness อีกเลย

มีเวลาแค่ยี่สิบนาทีบนเวที Stone Gods ก็ไม่ได้พูดพร่ำอะไรมาก อัดกันเนื้อๆเน้นๆรวมทั้งหมดแค่ห้าเพลง ที่นึกออกก็มี Burn the Witch เพลงเปิดอัลบั้มชุดแรก Silver Spoons & Broken Bones และปิดด้วย Defend or Die ที่แปลกก็คือไม่ยักหยิบเอา Knight of The Living Dead ที่เป็นซิงเกิ้ลขึันมาเล่นแฮะ


Stone Gods วงแรกของ Main Stage ในคอนเซ็ปต์วัน Classic Rock

ถัดจาก Stone Gods ก็ถึงคิวของวงที่อยากดูมานานแล้ว เพิ่งจะสบโอกาสเอาก็คราวนี้เอง สำหรับ Tesla

จะเสียดายก็นิดหน่อยตรงไม่ใช่คลาสสิคไลน์อัพแบบ 100% เพราะ Tommy Skeoch
มือกีตาร์อีกคนลาออกไปดูแลครอบครัวตั้งแต่เมื่อสามปีก่อน แต่นอกจาก Dave Rude ที่มาแทนแล้ว อีกสี่คนที่เหลือยังเป็นชุดเดิมทั้งหมด

ก่อนจะมาที่โดนิงตัน ก็เพิ่งมีโอกาสฟังงานชุดล่าสุด Forever More ได้ไม่นาน รวมๆแล้วถือว่าเข้าที่เข้าทางกว่า Into the Now เยอะ (ไม่นับอัลบั้ม กับ EP รวมเพลงคัฟเวอร์ที่ออกมาคั่นกลาง) และก็ดูเหมือนว่าทางวงจะอยู่ระหว่างยูโรเปี้ยนทัวร์โปรโมทงานชุดนี้พอดี เพราะเพลงแรกที่งัดขึันมาก็คือ Forever More เพลงเก่งของอัลบั้มด้วย

แต่อาจจะเพราะเวลาไม่อำนวยเท่าไหร่ ทางวงก็เลยเลือกเอาใจแฟนเก่าเป็นหลักด้วยการขุดเพลงเก่าๆขึ้นมาเล่นต่อเนื่องจนจบ ทั้ง Heaven's Trail (No Way Out), Signs, Cumin' Atcha Live และที่ขาดไม่ได้คือ Modern Day Cowboy งานนี้บอกได้คำเดียวว่าอิ่ม เพราะดูแล้ว โอกาสจะได้ยล Tesla อีกซักครั้ง คงเป็นเรื่องยากยิ่งกว่ายากจริงๆ


Tesla เล่นได้น่าประทับใจมากกับช่วงเวลาสั้นๆแค่ยี่สิบนาที

ปกติจะต้องหนีไปหาที่หลบแดดแล้ว แต่เห็นรายชื่อวงถัดไป ก็งงๆว่าใช่ Skin ที่รู้จักรึเปล่า ปรากฎว่าใช่แฮะ พอกลับไปค้นประวัติทีหลัง ปรากฎว่าเป็นการกลับมารวมตัวกันเพื่องานนี้โดยเฉพาะ หลังได้รับการทาบทามจากทางผู้จัด แถมยังเป็นสมาชิกยุคแรกทั้งหมดอีกต่างหาก แต่บอกได้เลยว่าจำหน้าตาแต่ละคนไม่ได้ ทั้ง Myke Gray (กีตาร์) กับ Andy Robbins (เบส) โกนหัวจนเกลี้ยง ส่วน Neville MacDonald ก็ไม่ได้ไว้ผมยาวเหมือนแต่ก่อน

เวลาดูไปก็อาศัยขุดลิ้นชักความทรงจำขึันไปด้วย จำไม่ได้ทั้งหมดหรอกว่า Skin เล่นอะไรไปบ้าง นึกดูละกันว่าสมัยนั้นยังเป็นเทปคาสเซ็ตต์อยู่เลย (น่าจะออกกับ EMI นะ) ที่ชัวร์ๆก็มี Money, House of Love กับ Look but Don't Touch จากชุดแรกนี่แหละ


Baby... Baby... Look but Don't Touch กับ Skin

กดมารวดสามวงก็ชักเริ่มเหนื่อยแล้ว เห็นรายชื่อวงถัดไปเป็น Black Stone Cherry ที่ผสมโพสต์กรันจ์กับเซาเธิร์นร็อค แล้วรู้สึกเฉยๆ ยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะดูหรือไม่ดู

แต่ระหว่างเดินออกมาซื้อเบียร์กระดกให้ชื่นใจซักหน่อย ก็ได้ยินเสียงซาวนด์เช็คจากเวที Redb
ull ที่ตั้งอยู่ตรงข้ามลอยมาเข้าหู เป็นริฟฟ์กีตาร์กระชากๆ สำเนียงดุใช้ได้ เลยแวะเข้าไปดูหน่อย เพราะสองวันก่อนไม่เคยเฉียดเข้าไปเลย

จะว่าดวงมันพามาเจอวงน่าสนใจก็ไม่ผิด เพราะ Jett Black ที่กำลังจะขึ้นเวที มันมีอะไรคล้ายกับวงโปรดอย่าง Black Tide กับ Airbourne มาก ทั้งเรื่องอายุอานามที่ไม่เท่าไหร่ แต่กลับเล่นเฮฟวี่ เมทั่ลย้อนกลับไปยุค 80s ได้มันเข้าไส้ โดยเฉพาะมือกีตาร์สองคนที่ผลัดกันร้อง ผลัดกันโซโล่ไฟแลบ

แต่ด้วยความที่เป็นวงหน้าใหม่ แถมอยู่ในเวทีร่ม คนที่อยู่ในเต็นท์เลยหนักไปทางมาหลบแดดมากกว่าจะฟังเพลงแบบจริงๆจังๆ นึกแล้วก็เสียดายแทน

พอกลับถึงบ้านแล้วลองค้นในเว็บดู ระวังอย่าไปสับสนกับ Jett Black ของอเมริกัน เพราะวงนี้เป็นของยูเค ถ้าอยากรู้ว่าเพลงของวงนี้เป็นยังไงให้ลองเข้าไปฟังที่ www.myspace.com/jettblackuk แต่อัลบั้มยังไม่ออกซักที ใน itunes ก็มีแค่ Jett Black อีกวง ระวังอย่าไปซื้อผิดล่ะ


Jett Black วงหน้าใหม่ที่เจ๋งเกินคาด

ถัดจาก Jett Black ก็ถึงคราววกกลับมาที่ Main Stage อีกครั้ง แต่คราวนี้จะฝ่าดงมนุษย์ไปถึงด้านหน้าคงทำไม่ได้แล้ว เพราะคนทยอยกันมาเพียบ ยิ่งมีคนถือ Weekend Ticket มาเสริม ทีนี้จะกิน จะเข้าห้องน้ำ จะดูคอนเสิร์ต อะไรก็แออัดไปหมด

สำหรับช่วงบ่ายของ Main Stage นั้น เป็นช่วงของคนแก่อย่างแท้จริง เพราะมีแต่วงรุ่นน้าทั้งนั้น เริ่มจาก Journey ที่ปัจจุบันเปลี่ยนกระบอกเสียงมาเป็น Arnel Pineda นักร้องนำชาวฟิลิปปินส์ หลังจาก Steve Augeri มีปัญหาเรื่องเส้นเสียง ส่วน Jeff Scott Soto โดนไล่ออกไป

ถึงจะเป็นฟิลิปิโน แต่สำเนียงของ Pineda ก็ไม่มี วั๋น ตรู๋ ตรี๋ แบบที่เราชอบล้อเลียนกัน ทั้งน้ำเสียงและพลังก็ต้องบอกว่าไม่แพ้นักร้องนำคนก่อนๆของวงเลย ขนาดที่สื่อในชิลี (เวทีแรกในการเปิดตัว Pineda) ยังยกให้ว่าอยู่ในระดับเทียบเคียง Steve Perry ไปโน่น อันนี้ก็แล้วแต่คนจะคิด แต่ถ้าว่ากันโดยรวมแล้ว ต้องยอมรับว่าไม่มีอะไรบกพร่องจริงๆ รวมถึงการแสดงบนเวทีต่อหน้าคนหลายหมื่นในวันนี้ด้วย

ด้วยความที่มีดีกรีแก่กล้าซักหน่อย Journey ก็เลยมีเวลาอยู่บนเวทีพอสมควร (น่าจะประมาณ 30-40 นาทีเห็นจะได้) แต่ไม่ยักกล้าหยิบเพลงจากชุดใหม่มาเล่นเลย คือส่วนใหญ่ก็เป็นเพลงขาประจำแบบเพลย์เซฟทั้งเซ็ต ไล่จาก Separate Ways (Worlds Apart), Stone in Love, Ask the Lonely, Wheel in the Sky, Faithfully, Don't Stop Believin' ปิดท้ายด้วย Anyway You Want It


Journey ถ้าเป็นมวยก็ต้องบอกว่าชกแบบประคอง ไม่เปลืองตัวเท่าไหร่

ตามโปรแกรมถัดจาก Journey ก็เป็น Dream Theater อีกหนึ่งวงโปรด แต่อารมณ์นั้น มีอะไรดลใจให้ลุกไปดูวงอื่นก็ไม่ทราบ อาจจะเพราะรู้สึกว่าอากาศร้อนๆแบบนี้ มันไม่เหมาะกับนั่งฟังเพลงในแบบของ DT เท่าไหร่ ก็เลยเดินแวะไปเวทีสอง เห็นป้ายผ้า Volbeat ติดอยู่

คิดอยู่ซักพัก ก็นึกออกว่าเป็นวงที่รุ่นน้องบอกว่า Daniel Agger กองหลังทีมชาติเดนมาร์กโปรดปราน ก็เลยลองยืนดูอยู่ซักหน่อย อารมณ์เพลงก็แปลกๆดี เหมือนจับเอา คันทรี่/ร็อคอะบิลลี่/โพสต์กรันจ์ มาผสมกัน คือมันไม่ค่อยกลืนกันเท่าไหร่ในความรู้สึกส่วนตัว แต่ก็ถือเป็นความพยายามที่แหวกแนวดี

มีอยู่เพลงหนึ่งที่อุทิศให้กับ Johnny Cash แล้ว ก็เล่นออกมาในแนวๆนั้นเลย และที่ฮาดีคือนักร้องนำค่อนข้างจะปากหวานมาก ชมคนดูข้างล่างตลอด ก่อนจะปิดท้ายด้วย I Only Wanna Be With You ของ Dusty Springfield ซะงั้น!?!


Volbeat วงลูกผสมอารมณ์ดี ไม่ใช่เมทั่ลแท้ๆแต่เล่นสดสนุกทีเดียว

ไปๆมาๆ แทนที่จะขยับไปดูเวทีอื่น ก็ฝังรากอยู่ที่ Second Stage นั่นแหละ เพราะตามคิวนั้นมี Buckcherry หนึ่งในสองเป้าหมายที่ดึงดูดให้บากบั่นมาถึงโดนิงตัน

แต่ก่อนจะถึงคิวของ Buckcherry เป็น Shinedown โพสต์กรันจ์ที่กำลังมาแรง ขึ้นมาแ
สดงก่อน

พูดถึง Shinedown ส่วนตัวแล้วก็ไม่ได้รู้สึกว่ามีอะไรแตกต่างจากวงในสไตล์เดียวกันซักเท่าไหร่ ทั้งเสียงร้องหรือดนตรี แต่รวมๆแล้วก็โอเค พอฟังได้

มีหลายเพลงที่คุ้นหูเหมือนกัน เพราะนี่เป็นช่วงอัลบั้ม The Sound of Madness ก็ได้รับการโปรโมทที่นี่พอสมควร ที่นึกออกก็มีไตเติ้ลแทร็ค, Devour และก็ Second Chance


Shinedown โพสต์กรันจ์ที่กำลังดัง ฝีมือไม่เลว แต่ฟังแล้วแยกกับวงแนวๆเดียวกันไม่ค่อยออก

หลังจาก Shinedown ลงเวทีไปได้ซักพัก ก็เป็นคิวของ Clutch สโตเนอร์ร็อค ที่ฟังชุดล่าสุดบางเพลงก็เตลิดไปถึงขนาดเอาบลูส์มาผสมด้วยแล้ว แต่บนเวทีก็ยังใส่กันเต็มเหนี่ยวอยู่

เพลงส่วนใหญ่ที่เลือกมาเล่น ก็จะย้อนกลับไปชุด Blast Tyrant ผสมกับเพลงจาก
ชุดใหม่แค่สองอัลบั้มเท่านั้นเอง ฟังแล้วก็มันๆมึนๆดีเหมือนกัน (อย่างหลังเพราะกดไปแล้วสี่ห้าไพนท์ด้วย) แต่อดีไม่ใช่แนวถนัดเท่าไหร่ เลยแค่โยกๆตามเป็นพิธีเท่านั้น


Clutch สโตเนอร์ร็อคเล่นมัน แต่คนเขียนเริ่มมึนเพราะฤทธิ์แอลกอฮอล์

ตอนที่ Clutch นี่ก็สารภาพตรงๆเลยว่าตอนนั้นคิดแค่ "เมื่อไหร่จะจบซักทีวะ" เพราะวงถัดไปที่จะขึ้นเวทีก็คือ Buckcherry นั่นเอง พอ Clutch จบปุ๊บ ก็รีบพุ่งขึ้นหน้าทันที ก็ถือว่าตำแหน่งยืนโอเคทีเดียวคือแถวที่สองตรงกับตำแหน่งของชุดกลองพอดี เรียกว่ามาดูสามวัน ก็เพิ่งมีคราวนี้แหละที่เบียดเสียดขึ้นมาอยู่ตรงนี้ได้

รอไม่นานเท่าไหร่ สมาชิกของ Buckcherry ก็ทยอยขึ้นเวทีมาทีละรายสองราย ก่อนที่ Josh Todd จะขึั้นมาเป็นคนสุดท้าย แล้วก็เริ่มต้นใส่กันเน้นๆด้วย Rescue Me จากชุดล่าสุด Black Butterfly กับ Lit Up ที่ตรงช่วงกลางเพลงต้องมีการยุส่งให้คนดูตะโกน Cocaine-Cocaine ไปมา จะว่าไปมันก็คล้ายๆกับทุกที่ที่ไปเล่นยังไงชอบกลแฮะ

ถึงจะมีอัลบั้มชุดใหม่ออกมาแล้ว แต่ดูเหมือนแฟนเพลงที่อังกฤษจะยังฝังใจกับ 15 มากกว่า ทางวงก็เลยต้องงัดวัตถุดิบจากชุดนั้นมาเล่นเยอะหน่อย อย่าง Broken Glass, Sorry และก็ปิดท้ายด้วย Crazy Bitch ที่เหมือนจะกลายเป็นเพลงชาติของวงไปแล้ว

แต่ไม่รู้สึกไปเองรึเปล่าว่าพอเล่นสดแล้ว ซาวนด์ของ Buckcherry มันฟังหลวมๆยังไงชอบกลถ้าเทียบกับหลายๆวงที่เล่นสไตล์ใกล้เคียงกัน อันนี้ไว้รอไปพิสูจน์อีกทีตอนปลายเดือนก.ค. ในงาน
Kerrang Awards อีกที ได้ความว่าไง แล้วเดี๋ยวจะมาเล่าให้ฟัง


ด้วยความที่เป็นวงเด็กเส้น Buckcherry ก็เลยมีรูปมาฝากเยอะหน่อย


Jimmy Ashhurst มือเบส กับ Stevie D. ริธึ่มกีตาร์


Todd กับ Xavier Muriel มือกลอง


Keith Nelson รวยแล้วชักฉุ

ดู Buckcherry จนหนำใจ แล้วก็ถึงเวลาโยกย้ายไปเก็บบรรยากาศช่วงท้ายของวัน เพราะวงรองสุดท้ายของ Second Stage อย่าง Paparoach ไม่ค่อยอยู่ในความสนใจเท่าไหร่ เลยกลับไปที่เวทีใหญ่ตามเดิม ตอนนั้น Whitesnake ก็ขึ้นมาเล่นได้ซักพักแล้ว

อาศัยความที่ Good To Be Bad อัลบั้มล่าสุดซิวทั้งเงินทั้งกล่อง David Coverdale กับชาวคณะก็เลยเล่นเพลงจากชุดใหม่สลับกับเพลงฮิตระดับคลาสสิคของวงไปได้แบบกลมกลืน

ที่เด็ดดวงมากๆคือลีลาของคู่มือกีตาร์ที่เข้าขั้นกีตาร์ฮีโร่ด้วยกันทั้งคู่ จนตอนแนะนำสมาชิกในวง Coverdale ตั้งฉายาให้ Doug Aldrich เป็น Lord of Les Paul ไปโน่น แต่คนที่ตั้งใจมาดูแบบเน้นๆเลยคือ Reb Beach แล้วก็ไม่ผิดหวัง

ถึงจะไม่ใช่เฮดไลน์ แต่ศักดิ์ศรีของ Whitesnake ก็ไม่ได้เป็นรอง Def Leppard ไม่เท่าไหร่ เลยได้เล่นราวๆชั่วโมงกว่า ก่อนจะปิดฉากด้วยเพลงที่เดากันได้ง่ายมาก Still of The
Night เสียดายไม่มี Fool for Your Lovin' เพลงโปรดอยู่ด้วย


Whitesnake มีรูปแค่นี้แหละ นั่งกินไก่ทอดอยู่ ขี้เกียจลุกไปถ่ายใกล้ๆ

ทีนี้ก็เหลือแค่สองชอยส์แล้ว ระหว่างเฮดไลเนอร์ของเวทีหลักคือ Def Leppard กับ Trivium ด้วยความที่ยังไม่อิ่มจาก Unholy Alliance ก็เลยเลือกไปดู Trivium ก่อน เพราะรู้ว่ายังไง Leppard ก็มีเวลานานกว่า (น่าจะประมาณสองชั่วโมงเศษ)

ระหว่างเดินจากเวทีแรกไปเวทีสองก็มีฝรั่งออกเนิร์ดๆหน่อยเข้ามาทักด้วย เพราะวันนั้นใส่เสื้อ Unholy Alliance พอดี คงเห็นว่าเป็นของแปลก เพราะอยู่มาหลายวันไม่ค่อยมีใครใส่เสื้อของ Slayer กันเลย (ที่เห็นเยอะสุด ไม่ใช่วงในงานก็เป็น Metallica กับ Guns N' Roses) แต่ตอนนั้นก็เมาได้ที่แล้ว เลยคุยกันแบบงูๆปลาๆ ก่อนจะแยกย้ายกันไปเข้าห้องน้ำ (555+)

พูดถึงเรื่องความนิยม Trivium นี่ก็ถือว่าใช้ได้เลย คือแฟนเพียบจนเบียดเข้าไปไม่ได้ ก็เลยต้องอาศัยวิธีดูห่างๆแบบนี้แหละ

ส่วนเพลงที่เลือกมาเล่นก็ค่อนข้างจะเน้นชุดล่าสุด Shogun เป็นหลัก (Kirisute Gomen, Down from the Sky, Throes of Perdition, Into The Mouth of Hell We March) เสริมด้วยเพลงจาก Ascendancy ส่วน The Crusade ที่ไม่ค่อยเป็นตัวเองเท่าไหร่ จะหลุดมาก็แค่ Anthem (We are the Fire) เพลงเดียว


Trivium เฮดไลเนอร์ของ Second Stage ในวันอาทิตย์

จบจาก Trivium ก็ราวๆเกือบสามทุ่มแล้ว ฟ้าเริ่มเปลี่ยนสี คือเทียบกับสองวันก่อน ช่วงเย็น แดดจะน้อยกว่าปกติ เพราะมองไกลๆเห็นเมฆฝนตั้งเค้าอยู่บ้าง แต่ก็เหมือนแค่ขู่ให้กลัวเท่านั้น ไม่มีใครสนใจเท่าไหร่

ถึงตอนนี้ทุกคนจากทุกเวทีก็ค่อยทยอยมารวมตัวกันที่เวทีแรก ลองเช็กดูจาก Set List ก็รู้สึกว่าจะปาเข้าไปครึ่งทางแล้ว เพราะเดินมาถึงก็กำลังขึ้นอินโทร Two Steps Behind พอดี



ฟ้าที่โดนิงตันตอนสองทุ่มเกือบสามทุ่ม กำลังสวย

พูดถึงตรงนี้ก็มีเรื่องขำนิดนึง คือระหว่างเดินจากเวทีสองมาเวทีแรก ก็มีฝรั่งอีกคนเดินมาถามว่านี่วงสุดท้ายแล้วใช่มั้ย อันนั้นไม่แปลกเท่าไหร่ คือพี่แกดันถามว่านี่ชื่อวงอะไรด้วยนี่สิ

โห ขนาดดั้นด้นจ่ายเงินเข้ามาดูถึงที่นี่ แต่ไม่รู้จัก Def Leppard มันก็กระไรอยู่นะ



Def Leppard ถ่ายจากระยะไกลมองไม่เห็น ถ่ายจากจอมาให้ดูละกัน

เพลงที่ Def Leppard เล่นในคืนนั้น ก็แทบจะขุดกรุเพลงฮิตของวงที่มีทั้งหมดมาเล่น คือมานั่งนับเรียงกันดู นอกจากเพลงในอัลบั้มใหม่ที่แทรกมานิดหน่อย ก็เหลือเชื่อเหมือนกันว่ามันจะมีเพลงฮิตเยอะอะไรขนาดนั้น (ดูเอาจาก set list ด้านล่างละกัน) ก่อนที่ทั้งหมดจะเดินกลับเข้าหลังเวทีพอเล่น Rock of Ages จบ

แต่ด้วยความที่วันนี้เป็นเหมือนคอนเสิร์ตใหญ่ของวงแบบกลายๆ ก็เลยต้องมีอังกอร์กันหน่อย ขนาดช่วงนี้มีคนทยอยเดินออกจากอารีน่าบ้างแล้ว แต่รวมๆก็ยังน่าจะเกินครึ่งแสนอยู่ดี เสียงร้องตามใน When Love and Hate Collide เลยดังกระหึ่ม ก่อนจะปิดท้
าย Download Festival อย่างเป็นทางการด้วย Let's Get Rocked

ก็บอกได้คำเดียวว่าหมดสภาพละฮะ ห้าวันสี่คืนตั้งแต่วันเดินทางออกจากบ้านจนถึงวันกลับ แต่ก็เป็นประสบการณ์ที่คงไม่ได้มีกันบ่อยๆ (มีบ่อยก็หมดตูด) เพราะลองคำนวณค่าใช้จ่ายทุกอย่างดูแล้ว ซื้อตั๋วเครื่องบินกลับเมืองไทยได้สบายๆ

ที่สำคัญคือไม่ใช่แค่่การเงินอย่างเดียวที่มีปัญหา ร่างกายก็ย่ำแย่ไม่แพ้กัน อย่างที่บอกไว้คือการทาครีมกันแดดไม่มากพอ ทำให้ผิวทั้งหน้าทั้งตัวไหม้หมด ปากก็แตกลอกเป็นแผ่นๆเหมือนเด็กดักแด้ไปอีกเป็นอาทิตย์

ถึงปีหน้าจะมีโอกาสมาอีกที ก็ชักไม่แน่ใจเท่าไหร่ว่าจะสะพายเป้มาลำบา
กตรากตรำแบบนี้อีกครั้งรึเปล่า...

ปล. ขอบคุณทุกคนมากที่อดทนอ่านกันมาจนจบ


Def Leppard set list
1. Rocket
2. Action
3. C'mon C'mon
4. Make Love Like A Man
5. Too Late For Love
6. Nine Lives
7. Love Bites
8. Rock On
9. Two Steps Behind
10. Bringin' On The Heartbreak
11. Switch 625
12. Hysteria
13. Animal
14. Armageddon It
15. Photograph
16. Pour Some Sugar On Me
17. Rock Of Ages
Encore:
18. When Love and Hate Collide
19. Let's Get Rocked

วันจันทร์ที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

Download 2009 ฉบับเขาชนไก่ (5)

Download 2009
Donington Park, Leicestershire
June 12-14, 2009


ย่างเข้าวันที่สองของ Download 2009 กันแล้ว ตามรายชื่อของวงที่ถูกจัดไว้ นี่น่าจะเป็นวันที่หลายคนรอคอยมากที่สุด เพราะมีวงดังๆในยุคปัจจุบันค่อนข้างเยอะ ทั้ง Slipknot ที่เป็นเฮดไลเนอร์ของ Main Stage The Prodigy ที่ขึั้นเล่นวงสุดท้ายของเวทีรอง Marilyn Manson, Pendullum, Dragonforce, Down, Hatebreed, Devil Driver ฯลฯ

แต่ส่วนตัวกลับรู้สึกเฉยๆไม่ค่อยกระตือรือล้นเท่าไหร่ เพราะรสนิยมมันตกยุคไปแล้ว ก็เลยตั้งใจว่าจะตระเวนไปเวทีโน้นเวทีนี้ดูวงแปลกๆ ที่คงหาโอกาสดูยากอยู่ซักหน่อยแทน

สำหรับวันเสาร์-อาทิตย์ นอกจากพวกที่มาตั้งแคมป์แล้ว ก็จะมีการเปิดขายบัตรให้คนทั่วไปเข้าชมด้วย ในแบบที่เรียกว่า Weekend ticket คือดูวันต่อวันแล้วก็หาทางกลับบ้านกันเอง ฟังดูเหมือนลำบาก แต่แบบนี้แหละที่พ่อแม่จะพาลูกๆมาเที่ยวกัน

คือออกจะทะแม่งๆหน่อยที่พ่อแม่พาลูกมาดูคอนเสิร์ตร็อคหรือเมทั่ล แต่คนที่นี่เขาก็เป็นแบบนี้จริงๆ มันเป็นเหมือนวัฒนธรรมเป็นกิจกรรมของครอบครัว เหมือนฟุตบอลนั่นแหละ ส่วนบ้านเรา คงไม่ต้องพูดอะไรมาก ขนาด DDT กับ Music Express ยังต้องปิดตัว ก็ไม่รู้ว่าจะยังไงแล้ว โหลดกันเข้าไปเหอะ (ชักมีอารมณ์)

วันเสาร์กับอาทิตย์นี่ก็จะเริ่มเช้าหน่อย คือ 11 โมงก็เริ่มบรรเลงกันแล้ว แดดกำลังเปรี้ยงพอดี เลยเดินแวะเข้าบาร์ไปหยิบ Gaymers Pear (ไซเดอร์ที่ทำจากลูกแพร์) มาซดเป็นการเริ่มต้น ก่อนจะนั่งดู Tim "Ripper" Owens ที่ Main Stage อย่างสบายอารมณ์

นึกแล้วก็น่าน้อยใจแทน Owens เหมือนกันแฮะ จากที่เคยอยู่กับ Judas Priest เป็นวงระดับเฮดไลน์ ต้องมาเล่นกลางแดดเปรี้ยงเป็นวงแรกของวัน โดยที่ยังมีคนเข้ามาในอารีน่าไม่มาก แต่พี่แกก็ยังเต็มที่ดี แล้วก็ร้องเพลงตัวเองสลับกับเพลงของ Priest แบบดื้อๆซะหยั่งงั้น ทั้ง The Ripper รวมถึง The Green Manalishi (With the Two-Prong Crown) ที่วางไว้เป็นเพลงสุดท้าย (ทำหยั่งกะเป็นเพลงตัวเอง)

เอ่อ...แต่ ...แต่ ลืมถ่ายรูปไว้ฮะ ท่านผู้อ่าน ขออภัยไว้ ณ ที่นี้ด้วย

Owens เล่นอยู่ประมาณครึ่งชั่วโมงก็ลาโรงไปตามคิว ถึงตอนนั้นก็ใกล้เที่ยงแล้ว แดดที่ตกใส่กบาลกำลังร้อนได้ที่ นึกหาที่หลบก็มีอยู่แค่สองแห่ง หนึ่งในนั้นคือเวที Tuborg Stage ว่าแล้วก็เดินฉับๆข้ามไปอีกฟากของ Donington Park มุ่งหน้าไปหาที่ร่มกัน


นี่แล Tuborg Stage ด้านหน้ามีลูกเล่นนิดหน่อยให้คนสอดหัวเข้าไปถ่ายรูปด้วยได้

ตอนที่ไปถึงนั้น มีวงหน้าใหม่ชื่อ No Americana กำลังเล่นอยู่พอดี ตัวเพลงก็เป็นป็อปร็อคที่ค่อนไปทางบริตอยู่ซักหน่อย จะว่าไปก็ผิดธรรมเนียมอย่างแรงสำหรับ Download เรื่องฝีมือหรือตัวเพลงก็ยังไม่ค่อยโดดเด่นเท่าไหร่ จะมีก็ลุคส์ของสมาชิกในวงที่ดูดีหน่อย แต่ถ้าหวังจะดังด้วยเรื่องเพลง เห็นทีจะลำบากหน่อย


No Americana น่าเบื่อกว่าที่คิด

ยืนดู No Americana แบบแกนๆพอให้หายร้อน ก็ถึงคราวกลับไปที่ Second Stage อีกรอบ คราวนี้มีเป้าหมายอยู่ที่ Hardcore Superstar สลีซร็อคจากสวีเดน

อาจจะเพราะรสนิยมส่วนตัว (อคติชัดๆ) รู้สึกเลยถึงความแตกต่างกันแบบเห็นๆ คือดู Hardcore Superstar แล้วมันสนุกกว่ากันเยอะ ถึงจะไม่ค่อยรู้จักเพลงของวงเท่าไหร่ แต่ก็มันตามไปด้วยได้ไม่ยาก คือ No Americana ดูแล้วยังไงก็บิลด์อารมณ์ไม่ขึั้นจริงๆง่ะ


Hardcore Superstar สลีซพันธุ์ล่ำจากสวีเดน

ถึงตอนนี้เริ่มชักเอียนๆปนเหนื่อยแล้ว ทั้งจากการกรำศึกหนักเมื่อวาน + ความร้อน + แอลกอฮอล์ที่ซดเข้าไป แต่ก็ไม่รู้จะไปไหนต่อ เพราะวงในวันเสาร์นี่เป็นวงรุ่นใหม่หมดเลย สุดท้ายเลยไปป้วนเปี้ยนแถว Main Stage กับเขาดูบ้าง ตอนบ่ายโมงแก่ๆแดดเปรี้ยงชวนให้ละลายดีแท้ ก็ถึงเวลาขึั้นเวทีของ Hatebreed

แต่สารภาพตามตรงนะ ไม่รู้จักซักเพลงเลย ก็ไม่ชอบฮาร์ดคอร์นี่หว่า แต่สำหรับวัยรุ่นที่มาออกันหน้าเวทีแล้ว ใส่กันแบบเมามันมาก รุ่นลุงเลยได้แต่ยืนดูไปพลางจิบเบียร์ไปพลาง ที่เด็ดคือตรงหน้าจอจะฉายไปที่คนดูเป็นระยะ แล้วก็จะมีสาวๆขี่คอแฟนถลกเสื้อโชว์ของดีให้ดูอยู่ตลอด แหม่ ชอบจริงๆ แบบนี้




Hatebreed ที่คนเขียนไปดูทั้งที่ไม่มีซีดีของวงซักแผ่น

ตามโปรแกรมต่อจาก Hatebreed ก็จะเป็น Down ตอนบ่ายสามโมง ตามด้วย Dragonforce ตอนบ่ายสี่ยี่สิบ แต่อารมณ์ตอนนั้น ไม่ค่อยอยากดูเท่าไหร่ เลยไปเดินเล่นเก็บบรรยากาศรอบๆแก้เลี่ยน


ดูเอาละกันว่าฟ้าโปร่งขนาดไหน แดดก็แรง ร้อนตับแลบ


ร้านขายหน้ากากสารพัด อยากซื้อมาใส่เล่นเหมือนกัน เสียดายแพงไปหน่อย


สองสาวเปรตที่ต่อขาไว้สำหรับให้คนเดินไปเดินมาถ่ายรูปด้วย


ปีศาจอีกสองตัวที่มาพร้อมกลุ่มสาวเปรตเมื่อตะกี้

เดินเล่นไปมา สุดท้ายก็หนีไปหลบแดดที่เวที Tuborg Stage อีกรอบ คราวนี้เป็นคิวขึันเวทีของ Billy Boy on Poison อัลเทอร์เนทีฟ/แกลมพั้งก์ จากแคลิฟอร์เนีย แต่กว่าน้องๆจะขึ้นเวทีได้ ก็ดีเลย์ไปเป็นสิบนาทีเหมือนกัน

เรื่องลีลาบนเวทีนี่ใช้ได้ โดยเฉพาะนักร้องนำที่มั่วได้ใจเหลือเกิน รวมๆแล้วก็พอฟังได้ แต่ไม่ค่อยเก็ตเท่าไหร่ จะดีหรือไม่ดี คนชอบแนวนี้ไปฟังต่อกันเองที่ www.myspace.com/billyboyonpoison ละกันนะ


Billy Boy on Poison ลีลาใช้ได้ แต่ไม่ใช่แนวคนเขียนเลยบอกไม่ถูกว่าดีหรือไม่ดี


Down ที่ Main Stage คนเยอะแค่ไหนดูจากภาพเอาก็คงรู้

ถึงตอนนี้ก็งงไปหมดละ ไม่รู้จะไปดูอะไรต่อดี ระหว่าง Dragonforce กับ The Answer สุดท้ายก็เลือกเอาวงหลัง เพราะ Dragonforce นั้นเคยดูมาแล้วทีนึงที่ The Rock Pub ถึงซาวนด์จะอุตลุดไปหน่อยก็เหอะ

สำหรับ The Answer นี่ สื่อบางฉบับที่นี่เค้ายกให้เป็น Led Zeppelin ของไอร์แลนด์เหนือ คือจะว่าไปก็ใกล้เคียง มีอะไรหลายๆอย่างชวนให้นึกถึง อย่างรูปลักษณ์ภายนอกของ Cormac Neeson นักร้องนำที่ออกคล้ายๆ Robert Plant กับดนตรีฮาร์ดร็อคบลูส์ แต่รวมๆแล้ว น่าจะออกไปทาง The Black Crowes ที่เล่นหนักหน่วงขึ้นมาหน่อยมากกว่า


The Answer เขาว่าเป็น Led Zeppelin จากไอร์แลนด์เหนือ

The Answer เล่นจบราวๆห้าโมง เท่ากับว่าชอยส์ต่อไป คือ Pendullum ที่ Main Stage, You Me At Six ที่ Second Stage หรือ Man Raze ที่ Tuborg

ถ้าเดารสนิยมกันออก คงรู้ว่าต้องเลือกไป Tuborg แน่ เพราะ Man Raze คือไซด์โปรเจ็กต์ของ Phil Collen (Def Leppard) Simon Laffy (Girl) และ Paul Cook (Sex Pistols)


แต่ผลลัพธ์คือต้องผิดหวัง เพราะรู้สึกว่าหนังสือโปรแกรมจะลงเวลาผิดหรือไงนี่แหละ เพราะกลายเป็นว่าวงที่ได้ดูกลายเป็น Lawnmower Deth ครอสโอเวอร์แธรชรุ่นดึกที่กลับมารวมตัวกันอีกครั้งแทน

คือถ้าใครเห็นภาพในปัจจุบันแล้ว คงงงน่าดูเพราะไม่มีเค้าของสมัยก่อนเหลืออยู่เลย อ้วนและหัวล้านแล้วทุกคน


ดูๆไปแล้วก็ฮาดีเหมือนกัน เพราะเน้นปล่อยมุกกันกระจายตลอดเวลายี่สิบนาทีเศษๆที่อยู่บนเวที แต่ก็เซ็งตรงไม่ได้ดู Man Raze อย่างที่ตั้งใจไว้นี่แหละ



ตั้งใจมาดู Man Raze ดันได้ดู Lawnmower Deth ซะงั้น

ต่อจาก Lawnmower Deth ก็คือวงพิเศษที่ทางคนจัดเขาใส่เครื่องหมายคำถามไว้ให้เดากันเล่น (แต่จริงๆเฉลยในเว็บก่อนหน้ามาเป็นอาทิตย์แล้ว) นั่นคือ Thunder ฮาร์ดร็อครุ่นเก๋าของอังกฤษที่เตรียมแยกวงอย่างเป็นทางการ

ความนิยมของ Thunder มากขนาดไหนก็คือตอนถอยออกมาว่าจะไปซื้อเบียร์มาซดซักหน่อย เลยกลายเป็นว่ากลับเข้าไปในเต็นท์ Tuborg ไม่ได้อีกเลย เพราะคนแน่นเอี้ยดจริงๆ เพราะฉะนั้น เรื่องรูปไม่ต้องพูดถึง จะมองเข้าไปยังไม่เห็นเลย ได้แต่ยืนฟังแล้วก็ร้องตามอย่างเดียว

บรรยากาศก็เหมือนงานร่ำลาจริงๆ ถึงตามคิว วงยังจะออกทัวร์ทั่วอังกฤษเป็นครั้งสุดท้ายก่อนปิดฉากอย่างเป็นทางการที่ Hammersmith Apollo ปลายเดือนกรกฎาคมก็ตาม

เพลงเก่งๆโดยเฉพาะจาก Backstreet Symphony ก็ถูกขุดขึ้นมาเล่นจนหมด เหลียวซ้ายแลขวาดูคนที่ร้องตามได้ ก็หัวหงอกกันเกือบหมดแล้วทั้งนั้น


นี่แหละ Thunder (อยู่ตรงไหนของภาพวะ)

เพราะ Thunder นี่แหละ ทำให้รู้ว่าถ้าคิดจะรอดู Anvil วงสุดท้ายของเวที Tuborg รับรองว่าคงเจอสถานการณ์ไม่ต่างกัน ก็เลยตัดสินใจมูฟจากเต็นท์ Tuborg ออกมาเดินเตร็ดเตร่รอเวลาดู Slipknot เฮดไลน์ของ Main Stage ในวันเสาร์แทน

ระหว่างนั้นก็เดินไปต่อคิวซื้อเสื้อทัวร์ Motley Crue มาเป็นที่ระลึกหน่อย ผลปรากฎว่าหมดเกลี้ยงทุกแบบ ทุกไซส์ เลยหันไปคว้า Tesla มาแทน (ไม่ได้เกี่ยวกันเล้ย)

รวมกับการหาอะไรใส่ปากท้องด้วย เท่ากับว่าช่วงนี้ก็เสียเวลาไปเยอะเหมือนกัน จะไปดู Chris Cornell ที่เวทีสองก็แน่นเอี้ยด จนหารูแทรกเข้าไปไม่ได้ ส่วน Main Stage ก็เป็น Marilyn Manson ที่หลังๆไม่ค่อยปลื้มเท่าไหร่ ก็เลยใช้วิธียืนจิบไซเดอร์ไปพลางดูไปพลาง (ไพนท์ที่ห้าแล้ว)

จนถึงสามทุ่มนั่นแหละค่อยถึงเวลาขึ้นเวทีของ Slipknot สังเกตจากรูปแรกที่ลงไว้ จะเห็นเลยว่าสามทุ่มช่วงซัมเมอร์ของที่อังกฤษ อารมณ์จะอยู่แถวๆหกโมงเย็นเท่านั้น


Slipknot ขึ้นเวทีเป็นวงสุดท้ายของ Main Stage สาบานได้ว่านี่สามทุ่มแล้ว

ความพิเศษก็คือนี่เป็นปีครบรอบหนึ่งทศวรรษพอดีของการวางตลาดอัลบั้มชุดแรกสำหรับ Slipknot แล้วก็เป็นการเล่นที่โดนิงตันหนแรก ในฐานะวงเฮดไลน์ของ Main Stage ด้วย ตลอดเวลา Corey Taylor ก็จะขอบคุณแฟนเพลงตลอด สลับกับการโขยกทั้งเพลงเก่าและใหม่ (หนักไปทางของเก่า) ไปเรื่อย

อ่านในหนังสือโปรแกรม Matt Heafy ของ Trivium บอกว่า Taylor นั้นมีพลังสามารถสะกดคนดูได้เป็นแสนๆ จะได้พิสูจน์กับตัวเองก็วันนี้เอง เพราะตอนช่วงท้ายๆนั้น พี่แกสั่งให้ทุกคนนั่งลงจะได้เห็นชัดๆว่ามากันมากน้อยแค่ไหน คนดูทั้งหมดก็นั่งลงแบบสั่งได้จริงๆ (เป็นไปกับเขาด้วย)

ส่วนสมาชิกคนอื่นๆก็ใส่กันเต็มที่เหมือนกัน ที่ไม่ค่อยขยับก็มีแค่ Jim Root, Mick Thomson สองมือกีตาร์ แล้วก็ Paul Gray มือเบสเท่านั้น ขนาด Joey Jordison มือกลองยังขยับได้เลย เพราะชุดกลองนั้นถูกยกแล้วก็เหวี่ยงไปมาด้วย อาจจะไม่เท่ากับ Tommy Lee สมัย Motley Crue ยังพีกๆ แต่ดูแล้วก็เวียนหัวแทนอยู่ดี พวกที่เหลือไม่ต้องพูดถึงโดยเฉพาะสองมือเพอร์คัสชั่นนั้นปีนป่ายไปทั่วเวที แถมลงไปเล่นกับคนดูตลอด



ขนาดไม่ใช่แฟนเพลงเหนียวแน่นของวงก็ยังรู้สึกว่าต้องโยกหัวตามไปด้วย แถมข้างหน้านี่ก็เล่นแท็ก เล่นมอชพิตกันอย่างเมามัน และด้วยความที่เป็นวงปิดด้วย Slipknot ก็เลยเล่นกันแบบเต็มแม็ก รวมช่วงอังกอร์ด้วยกดไปสองชั่วโมงเน้นๆ ก่อนที่ทุกคนจะสลายโต๋แยกย้ายไปเข้าเต็นท์ของตัว

จริงๆก่อนจะผลอยหลับไป ก็ยังได้ยินเสียงคนปาร์ตี้กันต่อ แต่อารมณ์นั้นไม่ไหวแล้ว พอหัวถึงหมอนปุ๊บก็สลบเหมือดทันที ซึ่งก็ดีเพราะเท่ากับเป็นการออมแรงไว้สู้ชีวิตต่อในวันสุดท้ายที่เขาวางคิวไว้ให้เป็นวันของ Classic Rock...

Slipknot Set List
Iowa (Intro)
742617000027
(sic)
Eyeless
Wait and Bleed
Get This
Before I Forget
Sulfur
The Blister Exists
Dead Memories
Left Behind
Disasterpiece
Vermilion
Everything Ends
Psychosocial
Duality
People = Shit

- Encore -
Surfacing
Spit It Out
'Til We Die