
Manic Street Preachers
Roundhouse, London
Thursday 28 May, 2009
พูดถึงวัยรุ่นจากยุคอัลเทอร์เนทีฟ (ตอนนี้อายุเท่าไหร่กันแล้วล่ะ) หนึ่งวงที่น่าจะถือเป็นไอคอนของหลายคน คงต้องนับรวม Manic Street Preachers เอาไว้ด้วย
ถ้าอัลบั้มชุดแรก Generation Terrorists (วางตลาดปี 1992) เป็นคน ป่านนี้ก็แตกเนื้อหนุ่มหรืออาจจะดีแตกไปแล้ว
หลายวงจากยุคนั้น ผ่านมาถึงปัจจุบัน ก็มีทั้งแตกสานซ่านเซ็นกันไปบ้าง เงียบหายกลับไปเป็นที่สนใจในแวดวงเล็กๆบ้าง จะมีก็แค่ไม่กี่วงที่ยังยืนหยัดอยู่บนแถวหน้าได้อย่างมั่นคง The Manics ก็คงเป็นหนึ่งในนั้น
แน่นอนว่าด้วยวัยที่เปลี่ยนไป ความเกรี้ยวกราดสมัยยังเพิ่งพ้นวัยรุ่นก็เริ่มจางลงไป
อีกเหตุผลหนึ่งที่หลายคนเห็นตรงกันว่าทำให้ The Manics ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป คือการหายสาบสูญของ Richie James Edwards มือกีตาร์ที่มีบทบาทสำคัญในการเขียนเนื้อเพลงของวง
การหายตัวไปของ Richie เปรียบไป ก็คงไม่ต่างอะไรกับการเลือกกระทำอัตวินิบาตกรรมของ Kurt Cobain จะต่างกันก็แค่วิธีที่เลือก
สิบกว่าปีผ่านไป พ่อแม่ของ Richie ตัดสินใจระบุสถานะของเจ้าตัวจากสาปสูญเป็นเสียชีวิต จะว่าไป ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะทุกคน โดยเฉพาะคนใกล้ชิดคงทำใจและเข้าใจได้แล้วว่าไม่มีวันที่ Richie จะกลับมาอีก เพราะต่างก็รู้ดีว่าการหายตัวไปครั้งนี้ ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่เป็นสิ่งที่เจ้าตัววางแผนไว้ล่วงหน้า
หลักฐานคือแฟ้มรวบรวมเนื้อเพลง อาร์ทเวิร์ค และอื่นๆอีกจิปาถะ ที่เจ้าตัวเจตนาทิ้งไว้ให้กับเพื่อนร่วมวงอีกสามคน
ผ่านมากว่าสิบปี แฟ้มที่ว่าถูกเก็บรักษาไว้อย่างดี ไม่มีวี่แววว่าจะถูกหยิบขึ้นมาใช้ เหตุผลคงไม่มีอะไรมากกว่าเป็นเรื่องยากเกินทำใจสำหรับทั้งสามคนที่จะหวนกลับไประลึกถึงเพื่อนผู้จากไป
แต่อาจจะจริงอย่างที่เขาว่า กาลเวลามันช่วยเยียวยาความรู้สึกได้ ความเสียใจในวันนั้น กลายเป็นแรงใจในวันนี้ที่ The Manics ปัดฝุ่นเอาแฟ้มเล่มนี้กลับขึ้นมาใช้ จนกลายเป็นวัตถุดิบสำหรับงานชุดล่าสุด Journal for Plague Lovers

โปสเตอร์ทัวร์คราวนี้ (ภาพจาก last.fm)
จะว่านี่คือภาคต่อของอัลบั้มสุดท้ายที่ Richie ร่วมงานด้วยอย่าง Holy Bible ก็ไม่ผิด เพราะกระทั่งปกอัลบั้ม ยังเป็นภาพสีน้ำมันฝีมือของอาร์ทติสท์คนเดิม Jenny Saville ขณะที่เนื้อเพลงทั้งหมดในชุดนี้ ล้วนแต่เป็นผลงานที่ Richie ฝากไว้ทั้งหมด
สัปดาห์เดียวหลังอัลบั้มชุดนี้วางตลาด ทางวงก็เริ่มตระเวนทัวร์เพื่อโปรโมททันที ไล่จากกลาสโกว์ เรื่อยมาถึงลอนดอนเป็นโชว์ที่สามตามโปรแกรม
ด้วยความที่ความสนใจค่อนข้างล้นทะลัก เฉพาะที่ลอนดอนก็เลยต้องเล่นกันสามคืนติดต่อกัน ตั้งแต่พฤหัสบดีถึงเสาร์ ตั๋วที่หาง่ายที่สุดก็มาลงเอยเอาที่วันพฤหัสบดีนี่แหละ เพราะอีกสองวันโซลด์เอาต์กันตั้งแต่วันแรกที่ให้เปิดจอง
พูดถึง The Roundhouse สถานที่จัดแล้วก็เท่ใช่เล่น เพราะเดิมเป็นคล้ายๆกับอู่สำหรับซ่อมบำรุงรถไฟ ตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 โน่น ก่อนจะได้รับการบูรณะใหม่หลังช่วงสงครามโลก จนกลายเป็นสถานที่จัดแสดงงานศิลปะและดนตรีเรื่อยมาถึงปัจจุบัน

นี่แล บริเวณด้านหน้าของ The Roundhouse (ภาพจิ๊กของคนอื่นจาก flickr.com)
ขนาดว่าวันพฤหัสฯไม่เปรี้ยงเท่าไหร่แล้ว แต่เอาเข้าจริง กะว่าจะรีบไปต่อคิวแต่เนิ่นๆเพื่อจะได้เกาะหน้าขอบเวที กลายเป็นว่ายังช้าไปหลายก้าว เพราะหกโมงเย็นก่อนถึงเวลาเปิดประตูหนึ่งชั่วโมง คิวเข้าก็ยาวเหยียดเลยมาไกลหลายสิบเมตรแล้ว
ที่ค่อนข้างแย่คือระบบการจัดการเคลียร์คนของสถานที่ค่อนข้างจะขลุกขลักไม่เป็นระเบียบ แถมตรวจซ้ำตรวจซ้อนจนบางครั้งคนที่มาก่อนต้องถูกคนข้างหลังแซงหน้าตลอด
ส่วนตัวก็ยังถือว่าได้อยู่ใกล้เวทีมากคือแถวสองจากรั้ว แต่ก็ยังถือว่าทัศนวิสัยไม่ดีเท่าไหร่ เพราะสาวอวบ (สวยด้วย) ที่อยู่ข้างหน้าก็เตรียมกล้องมาเหมือนกัน แล้วเวลาถ่ายก็ต่างคนต่างยก ไอ้เราที่อยู่ด้านหลัง บางครั้งถ่ายๆอยู่ กล้องคุณน้องก็เลยโผล่มาเข้าเฟรมอยู่เป็นระยะ
พอเข้าไปได้ซักพัก ไม่นานถึงขนาดรอจนหงุดหงิด วงเปิด The Answering Machine ก็ขึ้นเวที ส่วนตัวไม่ค่อยถนัดกับเพลงแนวนี้ซักเท่าไหร่ เลยแยกไม่ค่อยออกว่าดีไม่ดี แต่รวมๆแล้วก็พอฟังได้ โดยเฉพาะน้องแว่นที่เป็นมือเบสน่ารักดีเหมือนกัน (555+ ไม่เกี่ยวกับเพลงเลย)

The Answering Machine จากแมนเชสเตอร์
The Answering Machine เล่นอยู่ราวๆครึ่งชั่วโมงก็ลาโรงไป ปล่อยให้สตาฟฟ์ขึ้นมาเคลียร์อุปกรณ์เรียบร้อย ก็ถึงคิวของ The Manics กันเสียที
ด้วยความที่เป็นทัวร์โปรโมท Journal for Plague Lovers ก่อนเริ่ม ก็เลยมีการประกาศให้ทราบโดยทั่วกันว่าโชว์นี้จะมีสองเซตคือช่วงแรกจะเล่นอัลบั้มใหม่กันแบบเนื้อๆเน้นๆ ส่วนครึ่งหลังจะเน้นเพลงฮิตของวง ก็เรียกเสียงเฮจากแฟนได้ถ้วนหน้า
การจัดเวทีก็ค่อนข้างจะเรียบง่ายตามสไตล์วงคือมีเฉพาะแผ่นผ้าขนาดใหญ่ด้านหลังที่เป็นรูปปกอัลบั้มเท่านั้น
แต่ที่พิเศษหน่อยและเรียกเสียงกรี๊ดกร๊าดจากแฟนๆได้มาก คือตรงขาตั้งไมโครโฟนของ Nicky Wire นั้นพันไว้ด้วยพู่ (หรือเค้าเรียกผ้าพันคอวะ?) แบบที่เราเห็น Richie ใช้สมัยวงเพิ่งเริ่มดัง นัยว่าเพื่อเป็นการระลึกถึงเพื่อนผู้จากไปรายนี้

Wire กับขาตั้งไมค์ที่มีสัญลักษณ์ให้ระลึกถึง Richie อยู่ด้วย
ช่วงแรกนั้นก็เล่นกันแทบจะถอดมาจากตัวอัลบั้มเลยคือสตาร์ทกันด้วย Peeled Apples, Jackie Collins Existential Question Time, Me and Stephen Hawking...

ตำแหน่งที่ยืนหาโอกาสถ่ายภาพสวยๆได้ยากมาก ได้ชัดสุดแค่นี้
ด้วยความที่เพิ่งได้ซีดีมาฟังก่อนคอนเสิร์ตแค่สองสามวัน ก็เลยฟังออกร้องได้แค่งูๆปลาๆ แต่ปรากฎว่าฝรั่งทั้งฮอลล์ แม้แต่น้องคนสวยๆที่อยู่ด้านหน้าเขากลับร้องตามกันได้ทุกประโยค ทุกเพลง
มาคอนเสิร์ตก็หลายคน คราวนี้นี่แหละที่เพิ่งรู้สึกตัวเองแก่ ไม่ใช่เรื่องร้องเพลงตามไม่ได้ แต่การที่เราอยู่เกือบด้านหน้าสุดนี่แหละ ทำให้พวกข้างหลังพยายามโถมตัวเข้าใส่เบียดจนต้องบอกว่าเกือบจะหายใจไม่ออกอยู่แล้ว
แรกๆก็เกรงใจน้องคนสวยข้างหน้า เดี๋ยวเค้าจะนึกว่าเราถือโอกาสเบียด แต่สุดท้ายก็ไม่ไหวจริงๆ (...นิ๊ม นิ่ม ฮิฮิฮิ) เพราะข้างหลังนี่ทั้งเบียด ทั้งชน ทั้งกระแทก โอกาสที่จะถือกล้องนิ่งๆถ่ายนี่มีน้อยยิ่งกว่าน้อยจริงๆ ยกเว้นก็ช่วงเพลงช้า หรือเพลงอะคูสติกอย่าง Facing:Page Top Left ที่มีเครื่องสายสี่ชิ้นขึ้นมาเล่นคลอไปด้วย
ครึ่งแรกของโชว์ก็จบกันด้วย William’s Last Words ที่หลายคนตีความว่านี่แหละคือจดหมายลาของ Richie ทีแรก ไม่คิดว่าจะได้ยินเพลงนี้ด้วยซ้ำ เพราะตอนแปลบทสัมภาษณ์ลงใน M.E. เจ้าตัวยังดักไว้ล่วงหน้าว่าอาจทำใจร้องเพลงนี้ไม่ลง
เบรกกันพอให้หายเหนื่อย ระหว่างนี้ พวกการ์ดบริเวณด้านหน้าเวที ก็ทยอยเอาน้ำใส่แก้วมาแจกให้คนดูที่เบียดเสียดกันอยู่แถวหน้าได้ดับกระหายกัน เพราะข้างใน The Roundhouse นั้นร้อนจริงๆ แถมอากาศยังไม่ค่อยถ่ายเทเท่าไหร่
เข้าเบรกที่สองนั้น บนเวทีก็มีสมาชิกสมทบเพิ่มมาอีกสองคน เป็นมือคีย์บอร์ดและกีตาร์สมทบ เพื่อให้เพลงแน่นขึ้น

สองสมาชิกสมทบในเบรกสองของโชว์
เบรกสองนี่แหละที่แทบจะขาดใจตาย เพราะทั้งเบียดทั้งกระแทกกันสุดๆ รูปเริปอะไรไม่ต้องคิดจะถ่ายแล้ว คือสนุกก็ด้วยนะ แต่ด้วยความที่ตัวเล็ก ฉะนั้น เวลาฝรั่งข้างหลังโถมมาที ก็แทบแบนแต๋เหมือนกัน (แต่ยังนิ่มอยู่...)
ไหนๆก็ถ่ายรูปแทบไม่ได้แล้ว ก็เลยปล่อยตัวปล่อยใจไปกับอารมณ์คอนเสิร์ตซะหน่อย เพราะเพลงในช่วงนี้ก็ถือเป็นหัวกะทิของวงทั้งหมด ไล่ตั้งแต่เพลงแรก Motorcycle Emptiness, Faster, You Love Us, If You Tolerate This..., Australia, Motown Junk และอีกสารพัด ก่อนจะจบอย่างสวยด้วย Design For Life
รวมๆเวลาที่ The Manics อยู่บนเวทีก็สองชั่วโมงเศษ โดยไม่ต้องมีอังกอร์อะไรทั้งสิ้น เพราะเหลือบเวลาดูนาฬิกาแล้วก็เข้าช่วงห้าทุ่มที่เป็นเคอร์ฟิวพอดี
กลับถึงบ้านในอาการหมดสภาพไม่น้อย หัวเหอกระเซิงไปหมด เพราะไอ้ข้างหลังบางทียื่นมือข้างหน้ามาก็ลูบหัวขยี้หัวเราไปด้วยความเมามัน ส่วนภาพในกล้องไม่ต้องพูดถึง ไอ้ที่คัดมานี่คือที่ดีที่สุดที่พอดูได้แล้ว
ส่วนที่เหลือถึงจะไม่ชัดเท่าไหร่ ด้วยความโยกไปโยกมาตลอด แต่ก็พอจะเก็บไว้เป็นเครื่องเตือนความจำถึงหนึ่งในคอนเสิร์ตที่สนุก (และนิ่ม) ที่สุดครั้งหนึ่งที่เคยดู
3 ความคิดเห็น:
จะติดตามบทความดีๆ แบบนี้ตลอดไปครับ เป็นกำลังใจให้ครับ
ปล. ผมเริ่มฟังเพลงไม่ทันยุคที่พวกเขารุ่งสุดๆ แต่พอจะรู้ว่าพวกเขาเยี่ยมยอดแค่ไหน แต่โชว์คงสนุกน่าดูนะครับ
ขอบคุณครับที่ติดตาม + แสดงความเห็น
ทุกวันนี้ เรื่องดนตรีก็เขียนตามความพอใจของตัวเองอย่างเดียวแล้วละครับ
ทำป่ะล่ะ
ช่วงนี้ยิ่งฟุ้งซ่านอยู่ด้วย T_T
ตอนแรกว่าจะรอเขียนลงเว็บ ME แต่เห็นยังเงียบๆ อยู่ เลยว่าจะกลับมาทำเว็บตัวเองละ
เฮ้ออออออออออ กะว่าจะปิดเว็บตัวเองอยู่เขียว
แสดงความคิดเห็น