วันศุกร์ที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

Made in England Online (4)



Johnny Winter
O2 Shepherds Bush Empire, London
Saturday 23 May, 2009

ช่วงนี้อัพเดตบล็อกต่อเนื่องขึ้นมาเล็กน้อย เหตุผลไม่ใช่อะไร นอกจากมีวัตถุดิบไว้ในมือแล้ว จะเก็บไว้ เดี๋ยวมันจะเต็มลิ้นชักความทรงจำเปล่าๆ เลยต้องมีการจดบันทึกไว้หน่อยกันเหนียว (จริงๆกลัวลืมมากกว่า)

อย่างที่บอกกล่าวกันไว้ ช่วงซัมเมอร์นี้ มีคอนเสิร์ตน่าดูเพียบ กระเป๋าก็เลยพลอยแห้งเหี่ยวไปด้วย นี่ยังดีที่หลายงานซื้อไม่ทัน อย่าง Lynyrd Skynyrd หรือ Pearl Jam ที่เปิดให้จองปุ๊บก็โดนกวาดเรียบไปต่อหน้าต่อตา ไม่งั้นคงได้ซีดเซียวยิ่งกว่านี้

พูดถึงเรื่องซีดแล้วก็เลยต้องโยงมาถึงมือกีตาร์ผิวเผือกคนนี้ Johnny Winter (ดื้อๆเลย)


บัตรราคา 20 ปอนด์ กับอีก 4.75 ที่ต้องจ่ายให้ Ticketweb เป็นค่าจอง

ถามว่าเป็นแฟนเพลงระดับเข้าเส้นของแกรึเปล่าคงไม่ใช่ แต่ในกรุเทปเก่าที่บ้านก็มีงานของแกอยู่หลายชุดเหมือนกัน

ยิ่งได้อ่านเรื่องของแกในหนังสือที่ Classic Rock ฉบับครบรอบสิบปีแถมมาให้ ก็เลยหันกลับมาสนใจความเป็นไปของแกมากขึ้น

เพราะถ้าย้อนกลับไปเมื่อสามสี่ปีก่อน Winter แทบจะหมดสภาพจนกลับเล่นกีตาร์ไม่ได้อีกแล้ว ด้วยความที่ติดยางอมแงมจนน้ำหนักลดฮวบฮาบเหลือไม่ถึง 90 ปอนด์

ชีวิตจะมากระเตื้องขึ้นเอาก็ตอนได้รับความช่วยเหลือจาก Paul Nelson ที่ปัจจุบันรับหน้าที่เป็นทั้งมือริธึ่มกีตาร์ ทั้งผู้จัดการส่วนตัวให้ กระทั่งกลับมามีงานชุกอย่างในปัจจุบัน

ลองเช็กดูโปรแกรมทัวร์ของแกแล้วก็โหดใช่เล่น เพราะต้องเล่นต่อเนื่องกันยาวแทบทุกคืนไปจนถึงเดือนธันวาคมโน่น

ส่วนโชว์ที่ลอนดอนก็มีแค่รอบเดียวคือที่ Shepherds Bush Empire นี่เอง

ลองเทียบกับ Brixton Academy ที่ไปดู The Black Crowes แล้ว ที่นี่ตั้งอยู่ในแถบที่ดูปลอดภัยกว่าเยอะ เพราะย่านแฮมเมอร์สมิธกับฟูแล่มนั้น ถือเป็นย่านของผู้มีอันจะกินอยู่ซักหน่อย (แต่มาเดินคนเดียวตอนเที่ยงคืนตีหนึ่งก็อันตรายนะ)


บริเวณด้านหน้าสถานที่แสดง รถราขวักไขว่ดีจริง (กรูจะถ่ายแบบโล่งๆไม่ได้เลย วิ่งมาเข้าฉากตลอด)

เรื่องความจุก็ไม่ถือว่าใหญ่โตซักเท่าไหร่ คือเต็มที่ราวๆสองพันคน แต่ด้วยความเป็นสถานที่เก่าแก่ที่มีชื่อเสียงมายาวนาน วงดังๆที่เวลาอยากเล่นโชว์แบบไม่ใหญ่มาก ก็เลยมักจะเลือกมาใช้ที่นี่เป็นประจำ

หนนี้ด้วยความอยากลองไปเบียดเสียดอยู่แถวหน้าซักที เลยถือโอกาสไปยืนต่อคิวเข้าตั้งแต่ก่อนเวลาประตูเปิดราวๆชั่วโมง

แล้วก็สมหวังจนได้ เพราะฝรั่งอาจจะไม่ค่อยซีเรียสกับการได้ดู Winter ใกล้ๆซักเท่าไหร่ พวกหัวดำเลยได้ไปยืนเกาะรั้วด้านหน้าสุดสมอยาก แถมยังไปเลือกทำเลตรงกลางเวทีพอดีอีกต่างหาก


อุปกรณ์เครื่องใช้บนเวที ที่เห็นกลองชุดสองชุดนี่รวมของวงเปิดด้วย

เลยจากเวลาเปิดประตูตอนหกโมงครึ่งแค่ราวๆครึ่งชั่วโมง วงเปิดก็เดินขึั้นเวทีมาแบบไม่ต้องรอนาน

ในเมื่อเจ้าของงานเป็นบลูส์ วงเปิดจะให้ไปเล่นแนวอื่นคงไม่ได้ เพียงแต่ไม่หง่อมเท่า เพราะเป็นสาวน้อยวัยแค่ยี่สิบเศษๆเท่านั้น

Joanne Shaw Taylor นี่เข้าข่าย "ของแปลก" สำหรับวงการบลูส์ก็ว่าได้ เพราะทั้งเป็นผู้หญิง (สวยด้วยนะ) แถมยังเป็นคนเบอร์มิงแฮมที่ไม่น่าจะมีตรงไหนพาไปเฉียดกรายใกล้บลูส์ได้เลย แต่แนวที่เล่นกลับเป็นเท็กซัสบลูส์ที่ปรับสำเนียงกีตาร์ได้ดุเดือดมาก แถมฝีมือยังดีชนิดผู้ชายยังอาย


Joanne Shaw Taylor สาวน้อยจากเบอร์มิงแฮมแต่เล่นเท็กซัสบลูส์

ธรรมดาจะไม่ค่อยถ่ายวงเปิดมากขนาดนี้ซักเท่าไหร่ แต่น้องเค้าน่ารักเลยรัวชัตเตอร์เก็บภาพไว้เพียบเลย ฮ่าๆ...


ลีลาโซโล่บนเวที ใส่อารมณ์แบบเต็มเหนี่ยว ไม่มีห่วงสวย


เวทีที่เซตไว้สำหรับวงของ Winter ถ่ายเป็นแบบซีเปียเพิ่มความขลัง จะสังเกตเห็นว่ามีเก้าอี้ตั้งไว้ เพราะลุงแกมีปัญหาสะโพก ยืนเล่นไม่ไหวจริงๆ

หลัง Taylor กับเพื่อนลงไป ก็ถึงคิวสตาฟฟ์ขึั้นมาเซตเครื่องสำหรับวงของ Winter บ้าง ไม่นานเกินรอ Paul Nelson (กีตาร์) Scott Spray (เบส) Vito Liuzzi (กลอง) สามนักดนตรีแบ็กอัพก็ขึ้นมาอุ่นเครื่องหนึ่งเพลง


Paul Nelson (กีตาร์)


Scott Spray (เบส)


Vito Liuzzi (กลอง)

พอถึงคิวขึ้นเวทีของจริงสำหรับ Winter บอกได้คำเดียวว่าเห็นสภาพแกแล้วตกใจมาก คืออาจจะอายุ 65 ก็จริง

แต่ลองเอาไปเทียบกับ Mick Jagger ที่อายุเท่ากัน หรือ Eric Clapton ที่อ่อนกว่าแค่ปีเดียวแล้ว ต้องบอกว่าคนละเรื่อง คือ Winter นี่ดูเผลอๆนี่หง่อมกว่าอายุจริงด้วยซ้ำ


Johnny Winter ในวัย 65 งั่กจริงๆ

จากตำแหน่งที่ยืนอยู่นี่ คะเนแล้วห่างจากแกไม่เกินสองเมตร เลยมีโอกาสสังเกตแบบถ้วนถี่ซักหน่อย ให้เดาเอาว่าตาซ้ายเผลอๆอาจจะมองอะไรไม่เห็นด้วยซ้ำ คือปิดไปแล้วน่ะ แล้วเสียงก็แหบแห้งมากเวลาพูด จะเดินเหินก็ต้องใช้วิธีลากเท้าไปกับพื้น เหมือนกับคนป่วยหนัก

แต่ถ้าพูดถึงเรื่องกีตาร์แล้ว เสียงที่แกรีดออกจาก Erlewine Lazer บนตัก ยังเกรี้ยวกราดไม่ใช่เล่น

มันคงไม่ดุเท่ากับตอนเรี่ยวแรงยังดีก็จริง แต่สำหรับคนที่กีตาร์เป็นเหมือนอวัยวะส่วนหนึ่งของชีวิต ยังไงเสียงที่เปล่งออกมาก็ยังคงความขลังไม่จางหายอยู่ดี

ถ้าไม่เห็นภาพ ฟังแต่เสียง จะจับได้ว่าแก่ก็ตรงเสียงร้องกับเสียงพูดนี่แหละ เพราะฟังแทบไม่ได้ยิน จนหลายเพลงต้องสลับให้ Liuzzi มือกลองเป็นคนร้องแทน


Winter กับ Gibson Firebird ขณะเล่นเพลงประจำตัว Highway 61 Revisited

อีกเรื่องที่แสดงให้เห็นว่าเรี่ยวแรงแกเหลือไม่มาก ก็คือการตัดจบหลังจากเล่นไปแค่ชั่วโมงเศษๆ

แต่ยังอุตส่าห์สนองศรัทธาแฟน ด้วยการเดินงกๆถือ Gibson Firebird กีตาร์คู่ใจตัวเก่ากลับมาอังกอร์ให้อีกรอบ ในเพลงสุดคลาสสิค Highway 61 Revisited และก็เป็นเพลงเดียวด้วยที่แกโชว์ฝีมือสไลด์กีตาร์ที่เป็นลายเซ็นเฉพาะตัว

ถึงจะดูไปต้องลุ้นไปว่าลุงแกจะทนเล่นไหวจนจบโชว์รึเปล่า แต่บอกได้คำเดียวว่าทึ่งมาก แถมยังสนุกกว่าที่คิดไว้เยอะ

แถมยังได้อุทาหรณ์กลับมาว่าสงสัยจะต้องดูแลสุขภาพตัวเองซักหน่อยแล้ว ถ้าไม่อยากเห็นตัวเองตอนอายุ 60 เดินแทบจะไม่ไหวแบบนี้ เฮ่ออออ...

วันอังคารที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

Made in England Online (3)

The Black Crowes
O2 Academy Brixton, London
Sunday 17 May, 2009



ยิ่งกรายใกล้ฤดูร้อนเท่าไหร่ ใจก็ยิ่งเต้นระทึกเท่านั้น เพราะมิถุนายนนี้แล้วที่จะได้สะพายเป้ไปลุย Download Festival (downloadfestival.co.uk)

ไม่ใช่แค่นั้น เพราะช่วงรอยต่อระหว่างใบไม้ผลิจนถึงฤดูร้อนนี่แหละ คือช่วงเวลากอบโกยของบรรดานักร้องนักดนตรีของจริง ชนิดที่ว่าสถานที่จัดคอนเสิร์ตทั้งเล็กใหญ่ เรื่อยไปจนถึงเทศกาลทั้งหลายนั้นเข้าข่ายหัวกระไดไม่แห้งแน่นอน

ส่วนพวก "เสี้ยน" หาเรื่องแบบคนเขียน ก็ได้แต่รำพึงในใจ "ไม่มีอะไรจะรับทานแล้ว (โว้ย)"

แต่ก็อีกนั่นละ นี่คือความสุขเล็กๆที่หาได้ยากเต็มที ฉะนั้น ก่อนซมซานกลับเมืองไทย ยังไงต้องกอบโกยกำไรชีวิตให้เต็มที่

นี่ขนาดไม่มีแม็กกาซีนให้เขียนลง ก็ยังอุตส่าห์ดิ้นรนไปดูเพื่อ เขียนเอง อ่านเอง จนได้ แบบนี้แล "เสี้ยน" ของจริง

แล้วความ "เสี้ยน" ที่ว่าก็พาให้เสียเงินอีกจนได้...

พูดถึง The Black Crowes นี่ออกตัวก่อนว่าไม่ถึงกับเป็นวงที่คลั่งไคล้เท่าไหร่ คือจะมาเริ่มฟังเอาก็ตอนที่หมดสิ้นความดังในกระแสไปเรียบร้อย แต่พอยิ่งฟังก็ยิ่งรู้สึกได้ถึงความขลัง

เล่นดนตรีแบบที่ตัวเองอยาก ไม่ต้องพยายามทำตัวเหนือล้ำหัวก้าวหน้า ไม่ต้องง้อสังกัดใหญ่ แต่ก็ยังมีแฟนเพลงคอยติดตามเหนียวแน่น

ตรงนี้ก็ต้องบอกว่าตัวเองโชคดีเหมือนกัน อาจจะดีกว่าฝรั่งหลายคนที่ตัดสินใจช้าด้วยซ้ำ เพราะนี่คือโชว์เดียวในยูเคของพลพรรคอีกาดำ แถมไม่ได้เลือกเล่นในสถานที่ใหญ่โตอะไร ตั๋วจึงโซลด์เอาต์โดยปริยาย

ไอ้พวกที่หวังมาตายเอาดาบหน้า หาตรงสถานที่แสดงเลยได้ตายสมใจอยาก

ถึงจะไม่ใช่เวทีระดับบิ๊ก แต่ Brixton Academy ก็เป็นอีกหนึ่งสถานที่จัดคอนเสิร์ตระดับ "เก๋า" อีกแห่งของลอนดอน ไม่น้อยหน้า Astoria (โดนทุบไปสร้างสถานีอันเดอร์กราวนด์แล้ว) หรือ Hammersmith Apollo แถมยังจุคนได้มากที่สุดแล้ว ในบรรดาสถานที่จัดระดับ non-arena ด้วยกัน


เปิดไฟแบบนี้ก็ดูสวยดี แต่ลองไปดูตอนกลางวัน คร่ำคร่าหาความงามไม่ได้เลย

พูดถึงที่ตั้งของทีนี่ หลายคนก็เตือนไว้ล่วงหน้าว่าระวังตัวไว้บ้าง เพราะเป็นแหล่งชุมนุมของคนผิวสีประเภทไม่ค่อยมีอันจะกินอยู่ซักหน่อย

ฉะนั้น ให้พึงเอาของมีค่าติดตัวไปน้อยที่สุด เผื่อว่าเวลาเกิดเจอปล้น มันจะได้เอาไปแต่ชีวิตเรา ไม่มีทรัพย์สินติดมือไปด้วย!?!

จากประสบการณ์เกือบปีที่ผ่านมา ทำให้รู้ว่าฝรั่งมันไม่ค่อยรอให้ใกล้เวลาแล้วค่อยเข้าเหมือนพี่ไทยเรา คือถือคติใครเร็วกว่า อดทนกว่า ก็ได้ลุ้นใกล้ชิดติดเวทีมากกว่า คราวนี้ก็เลยบึ่งไปถึงสถานที่ก่อนเวลาเปิดประตูตอนทุ่มนึงราวครึ่งชั่วโมง

ปรากฎว่ายังช้าเกินไป เพราะมีคนมาต่อคิวรออยู่ด้านหน้า คะเนคร่าวๆก็หลายร้อยอยู่ เพราะต้องวกจากด้านหน้าอ้อมตัวตึกไปถึงฟากด้านหลังโน่นถึงเจอหางแถว


ภายในฮอลล์ของที่นี่จะคล้ายๆกันหมด คือมีแบ่งชั้นบนล่าง เพราะดัดแปลงจากโรงละครเก่า

แต่พอหลุดเข้าไปได้แล้ว ก็ยังเฮงอยู่ดี เพราะพี่ฝรั่งเข้าไปได้แล้วดันมัวแต่ไปยืนซื้อเบียร์กระดกกันอยู่ พี่ไทยหัวเดียวกระเทียมลีบเลยเล็ดรอดไปได้ถึงแถวสองหน้าเวที ก็ถือว่าใกล้มากแล้วสำหรับการใช้น้องน้อย D-Lux3 เก็บภาพมาให้ดูกัน

ก็เป็นธรรมดาสำหรับคอนเสิร์ตที่นี่ ที่ต้องเลทจากเวลาเปิดประตูเสมอ ยิ่งคราวนี้ The Black Crowes ไม่ใช้บริการวงเปิดด้วย นับจากเวลาที่เข้าไปรอตอนทุ่มนิดๆ จนถึงตอนไปจองที่หน้าเวทีก็ปาเข้าไปชั่วโมงครึ่งเห็นจะได้


ก่อนคอนเสิร์ตเริ่มประมาณครึ่งชั่วโมง สตาฟฟ์บนเวทีเอาแอปเปิ้ลจุดธูปมาเซ่นเจ้าที่ด้วย

ยืนกันจนขาแข็งได้ที่แล้ว ไฟในฮอลล์ก็ดับลงเป็นสัญญาณบอกว่า สองพี่น้อง Chris กับ Rich Robinson รวมถึงสมาชิกอีกสี่ Steve Gorman (กลอง) Adam Mcdougall (คีย์บอร์ด) Sven Pipien (เบส) และ Luther Dickinson (ลีดกีตาร์) รวมถึงสองสาวนักร้องแบ็กอัพก็ทยอยขึ้นเวที

ด้วยความเป็นวงที่ไม่มีเซตลิสต์แน่นอน งานนี้เลยต้องบอกว่าเฮงพอสมควรที่ The Black Crowes เลือกหยิบเพลงจากชุดแรก Shake Your Money Maker ขึ้นมาเล่นเป็นหลัก (แต่จริงๆ อยากให้เน้น The Southern Harmony and Musical Companion มากกว่านะ)

เท่าที่นับดูก็ยกกันมาเกือบทั้งอัลบั้มเลยก็ว่าได้ โดยเฉพาะเวลาเล่นเพลงเด่นๆอย่าง She Talks to Angels, Hard to Handle และ Twice as Hard นั้น ฮอลล์แทบจะถล่มกันเลย

เฉพาะอย่างยิ่งสาวข้างๆที่แอบฟังเจ้าตัวพูดกับแฟนหนุ่ม เดาเอาว่าคงเป็นพวกนักศึกษาจากอิตาลีอะไรประมาณนั้น น่าจะเป็นแฟนพันธุ์แท้ของวงเลยก็ว่าได้ คือเวลาเจอเพลงถูกใจ ก็จะออกอาการหันมายิ้มแบบมีฟามสุขมาก


ลีลาของสองพี่น้อง Robinson บนเวที Chris (ที่ 2 จากซ้าย) ส่วน Rich (ขวา) ก็ยืนเล่นกีตาร์หน้าไม่บอกอารมณ์ทั้งงาน

ไม่ใช่อะไรหรอก อิจฉาไอ้ผู้ชายที่มาด้วยน่ะ คือเวลาคุยกับเพื่อนคนไทยด้วยกัน ถ้าทะลึ่งพูดชื่อ The Black Crowes ขึ้นมา จะมีใครสนใจหรือคุยรู้เรื่องรึเปล่าก็ไม่รู้

อย่าว่าแต่สาวๆ เพื่อนผู้ชายด้วยกันนี่ยังไม่ค่อยจะฟังเล้ย (T^T)

ชอตที่ถือเป็นไฮไลท์ (อันนี้ส่วนตัวนิดนึง) คงเป็นช่วงเพลงโปรด Thorn in My Pride ที่เรียบเรียงให้ฟังดูดิบๆกว่าในอัลบั้ม แถมระหว่างกลางเพลงยังเปิดช่องให้ Gorman ได้โชว์การโซโล่กลองแบบเต็มเหนี่ยวเป็นสิบนาทีได้มั้ง ก่อนที่สมาชิกคนอื่นจะกลับมาเล่นกันต่อจนจบ


Gorman กับช่วงโซโล่กลองกลางเพลง Thorn in My Pride

นอกจากเพลงที่ว่า ก็รู้สึกจะมีแทรกเพลงจากอัลบั้ม Warpaint (ออกมาตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่ยังไม่ได้ฟังเลยบอกไม่ถูกว่าเพลงอะไร) กับเพลงใหม่ที่กลิ่นตุๆไม่เข้าพวกเข้าเหล่าเท่าไหร่ เพราะไลน์เบสนี่แทบจะเป็นดิสโก้อยู่แล้ว

และก็เป็นธรรมเนียมที่พอถึงแก่เวลาอันควร ก็ต้องกลับเข้าหลังเวทีให้แฟนอังกอร์ แต่ The Black Crowes นั้นไม่ค่อยเล่นตัวเท่าไหร่ เข้าหลังเวทีไปแปบๆก็กลับมาอังกอร์แบบไม่ต้องเรียกให้เหนื่อย ก่อนจะปิดคอนเสิร์ตของจริงด้วย Thick n' Thin ทำเอาหลายคนที่เรียกร้องอยากฟัง Remedy ต้องแห้วกันถ้วนหน้า (คนเขียนก็จัดอยู่ในหมวดนี้)


ตั๋วคอนเสิร์ตที่รวมค่าหัวคิวแล้วจ่ายไปเฉียดสี่สิบปอนด์แค่ไม่กี่เพนซ์ (ไม่นับค่าเบียร์ที่เต็มใจเสีย)

ถามว่าอิ่มมั้ยกับสองชั่วโมงเศษๆในคราวนี้ ก็ต้องบอกว่ายังไม่ค่อยเต็มร้อย เพราะไม่มีโอกาสได้ฟังเพลงที่อยากฟังสดๆอย่าง Sting Me หรือ Remedy

แต่คิดในแง่ดีก็คืออย่างน้อย ชีวิตนี้ก็ถือว่าได้ดู The Black Crowes แล้ว และคงยากที่จะมีโอกาสดีๆแบบนี้เกิดขึ้นซ้ำสองอีก

วันศุกร์ที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

Made in England Online (2)

A Night At The Theatre With Asia
HMV Forum, London
Friday 24th April 2009



ด้วยความที่ชีวิตยังสะเปะสะปะ หาความเป็นรูปร่างไม่เจอ เลยชักไม่ค่อยแปลกใจเท่าไหร่ที่แค่เรื่องอัพบล็อกจะทำให้มันเป็นกิจจะลักษณะยังไม่ค่อยจะได้

Made in England ฉบับลี้ภัยจาก M.E. มาหนนี้ถึงได้ห่างหายจากคราว Metallica นานพอสมควร อีกเหตุผลก็คือมันไม่มีคอนเสิร์ตอะไรที่ต้องตาต้องใจมากนัก แต่เดี๋ยวเอาไว้เข้าปลายเดือนพฤษภาคมก่อนเหอะ รับรองอัพบล็อกกันแทบทุกสัปดาห์ (ขี้โม้จริงๆ)

สำหรับ A Night At The Theatre With Asia หนนี้ ความน่าสนใจหลักๆคงอยู่ที่การกลับมารวมตัวกันอีกครั้งของสมาชิกยุคคลาสสิคไลน์อัพ อันประกอบด้วย Steve Howe - กีตาร์ Geoff Downes - คีย์บอร์ด Carl Palmer - กลอง และ John Wetton - เบส/ร้องนำ


ราคาหน้าตั๋วอยู่ที่ 25 ปอนด์ แต่ต้องจ่ายค่าหัวคิวให้ ticketmaster อีก 3.25 ปอนด์ ไม่นับค่าไปรษณีย์อีกนะ

พูดถึงตรงนี้ก็อาจทำให้หลายคนสับสนกันนิดหน่อย เพราะยังมีอีกหนึ่ง Asia ที่นำโดย John Payne มือเบส/นักร้องนำในยุคหลังที่ยังออกทัวร์อยู่เช่นกัน โดยใช้ชื่อว่า Asia featuring John Payne เปรียบไปก็คงคล้ายๆกับ L.A. Guns ของ Phil Lewis กับ L.A. Guns ของ Tracii Guns อะไรทำนองนั้น

แต่ของ Asia จะแยกเป็นเอกเทศชัดเจน คือคลาสสิคไลน์อัพนั้นจะเลือกเล่นเพลงจากสามอัลบั้มแรก รวมถึง Phoenix ที่เพิ่งวางตลาดเท่านั้น ส่วนใครอยากฟังเพลงจากชุด Aqua จนถึง Silent Nation ก็คงต้องไปรอดูไลน์อัพของ Payne เอา


นี่แลบริเวณด้านหน้าของ HMV Forum ถ้าเป็นตอนกลางวันอาจนึกว่าโรงหนังชั้นสองบ้านเรา

ด้วยความที่ไม่ใช่วงในระดับเมนสตรีม ฉะนั้น สถานที่ที่ทางวงเลือกเล่นก็ออกจะเล็กอยู่ซักหน่อยคือ HMV Forum ที่มีลักษณะคล้ายๆกับโรงละครเก่าดัดแปลงมาใช้เป็นสถานที่เล่นคอนเสิร์ต คือดูจากบรรยากาศภายนอกนี่ค่อนข้างคร่ำคร่า แต่ภายในก็จัดว่าตกแต่งได้สวยงามแบบเก่าๆดี

ที่ฮานิดหน่อยคือสถานที่แบบนี้แหละที่คืนก่อนหน้า Asia นั้น Saxon วงจากยุค NWOBHM เพิ่งมาโขยกกันไปหมาดๆ ทั้งที่ดูจากการตกแต่งภายในแล้วไม่ได้เข้ากับความเป็นเมทั่ลเลย

ส่วนข้อเสียก็คือที่นั่งนั้นไม่ได้ฟิกซ์ที่เอาไว้ ฉะนั้น ใครยกตูดขึ้นไปเข้าห้องน้ำเมื่อไหร่ รับรองเสียตำแหน่งทันที

สถานที่ก็เก่า อายุอานามของวงก็ปาเข้าไปเกือบสามสิบปี (ไม่นับผลงานของแต่ละคนก่อนหน้า) ฉะนั้น เรื่องคนที่มาดูไม่ต้องพูดถึง คือคนเขียนก็จัดเป็นรุ่นน้าแล้ว ปรากฎว่าส่วนใหญ่ที่มายืนต่อคิวรอเข้าไปดูนั้น ร้อยละ 80 เข้าขั้นลุงป้าเป็นอย่างต่ำ ที่เหลือนั้น คะเนด้วยสายตาคงไม่น่าห่างจากคนเขียนเท่าไหร่ แล้วก็มีกลุ่มวัยรุ่นแทรกมานิดหน่อย

เห็นแบบนี้แล้วก็นึกถึงตอนดู Extreme ที่ Astoria ขึ้นมาเหมือนกัน คือฝรั่งนั้น สมัยวัยรุ่นร็อคขนาดไหน ปาเข้าไป 40-50 แล้วก็ยังร็อคได้อยู่ ถึงหัวเหอจะไปแล้ว หรือพุงปลิ้นเพราะเบียร์จนใส่กางเกงหนังรัดติ้วไม่ได้ แต่ข้างในไฟยังไม่มอดว่างั้นเถอะ

ส่วนสมาชิกทั้งสี่ของ Asia "เกือบ" ทั้งหมด ถึงวัยจะล่วงเลยไปเยอะแล้ว แต่ดูหน้าตาก็ยังถือว่าอ่อนกว่าวัยมาก โดยเฉพาะ Geoff Downes นั้นยังไว้ผมทรงเดียวกับยุค 80s อยู่เลย (555+)


John Wetton ไม่บอกก็ไม่รู้ว่านี่อายุ 59 แล้วนะ


Geoff Downes (56) ยังดูเด็กกว่าอายุจริงสิบปีเห็นจะได้


Carl Palmer เพิ่ง 59 หมาดๆ แต่ยังแข็งแรงดีอยู่

จะมีที่เหี่ยวจนน่ากลัวอยู่คนเดียวก็คือ Steve Howe นั้น ถ้าไม่บอกกล่าวคงไม่มีทางรู้เลยว่าแก่กว่าอีกสามคนแค่ 2-3 ปีเท่านั้น ดูจากรูปเอาก็คงรู้


อย่าเพิ่งเข้าใจผิด นี่คือ Steve Howe (62) นะจ๊ะ ไม่ใช่ Sven Goran Eriksson

ในส่วนของคอนเสิร์ต ถึงจะระบุว่าเป็นทัวร์สนับสนุนอัลบั้ม Phoenix ก็จริง แต่อย่างที่ว่าไว้ข้างต้น วัตถุดิบของไลน์อัพนี้มีแค่ 4 อัลบั้ม และทางวงก็คงรู้ดีว่าคนส่วนใหญ่ที่มาดูนั้นซื้อตั๋วมารำลึกความหลังครั้งยังหนุ่มสาวมากกว่า (ไม่นับคนเขียนที่ตอนนั้นเพิ่งอยู่ประถม) เซตลิสต์ในงานก็เลยคล้ายเป็นคอนเสิร์ต Greatest Hits โดยปริยาย

ตั้งแต่เพลงเปิด Only Time Will Tell เรื่อยไปถึง The Heat Goes On, Here Comes The Feeling สลับกับเพลงจากอัลบั้มใหม่เท่าที่จำได้ก็มี Never Again กับ An Extraordinary Life แทรกด้วยงานเก่าของ Yes บ้าง King Crimson บ้าง

ถ้าจำไม่ผิด น่าจะเป็นช่วงที่เล่น In The Court of Crimson King นี่แหละ ที่ระบบเสียงเกิดอาการรวน จนสมาชิกแต่ละคนมองหน้ากันเลิ่กลั่กแต่ก็ยังทู่ซี้เล่นกันไป กว่าที่สตาฟฟ์จะแก้ไขเสร็จ ลุง Howe ก็ส่ายหัวพร้อมทำหน้าแบบเซ็งๆบอกอารมณ์ว่าไม่แฮปปี้เท่าไหร่

อาจจะด้วยเพราะอายุมากๆกันแล้วทั้งนั้น ลุงๆแกก็เลยต้องแบ่งโชว์ออกเป็นสองช่วง ทีแรกไม่รู้ก็ใจหายเหมือนกันว่าทำไมจบเร็วจัง (ยังไม่คุ้มค่าตั๋วว่างั้น) แต่พอเห็นคนส่วนใหญ่ยังนั่งกันสบายใจเฉิบ ถึงเข้าใจ

และที่ขาดไม่ได้คือช่วงที่เปิดช่องให้สมาชิกแต่ละคนได้ "เดี่ยว" ในรายของ Downes กับ John Wetton ไม่ค่อยได้โชว์อะไรมากนัก ผิดกับ Howe ที่หิ้วอะคูสติกกีตาร์ออกมาแสดงฝีมือแบบเต็มที่ จะไม่เต็มร้อยก็ตรงลีลาแบบเก้ๆกังๆเหมือนคนแก่ของแก (จริงๆก็แก่นั่นแหละ)


โชว์คู่คั่นเวลาของ Wetton กับ Downes


Howe กับช่วงเดี่ยวอะคูสติก

ขณะที่ Palmer นั้นเลือกใช้ช่วงกลางเพลง The Heat Goes On โซโล่กลองที่ผสมผสานทั้งเทคนิคระดับเทพปนกับอารมณ์ขันนานเกือบสิบนาที เรียกคะแนนจากคนดูไปแบบเต็มๆ ก่อนที่สมาชิกอีกสามคนจะกลับมาเล่นกันต่อท่อนท้ายจนจบเพลง


Palmer กับช่วงโซโล่กลองยาวเกือบสิบนาที

และก็ตามธรรมเนียมคือหลังจากจบเพลงสุดท้าย Sole Survivor แล้วก็ต้องมีอังกอร์เป็นของแถม และคงเดากันไม่ยาก เพราะของอร่อยสุดต้องเก็บไว้กินตอนท้าย นั่นคือ Heat Of The Moment เพลงดังที่สุดของวง

ดังขนาดไหน ก็ขนาดสาวที่นั่งข้างๆ (ไม่ได้มาด้วยกัน) ยังทำท่าตื่นเต้นประมาณว่า "เพลงนี้ฉันก็รู้จักนะเธอ"


ลีลาของสี่สมาชิกใน Heat of The Moment เห็นมั้ย Downes นี่โคตรวัยรุ่นเลย

ว่าแล้วคนในฮอลล์ก็ลุกขึ้นมาเต้นกันแบบลืมแก่ตั้งแต่ต้นจนจบ Wetton กับสมาชิกทั้งสาม ก็ทรมานสังขารทั้งของตัวเองทั้งของคนดู ด้วยการเล่นท่อนคอรัสซ้ำไปซ้ำมาหลายรอบ แถมยังนิ่งให้คนดูร้องเองให้หายอยาก ก่อนจะจบกันไปอย่างสุขสมทั้งคนดูและคนเล่น

ปล.อย่าแปลกใจหากรูปจะนอยส์กระจาย เพราะสภาพแสงในนั้นเข้าขั้นโหดเหี้ยมอำมหิต สุดปัญญาที่น้องน้อย D-Lux3 จะทำให้มันชัดเจนกว่านี้ได้ แถมถ่ายไปไอ้คนข้างหน้าก็โยกไปโยกมาบังเป็นระยะ (ข้อแก้ตัวเยอะจริงๆ)